หัวข้อ: จะรวยทั้งทีต้องมีแผน ..... เริ่มหัวข้อโดย: ka1 ที่ ธันวาคม 05, 2009, 05:33:43 PM จะรวยทั้งทีต้องมีแผน
ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกิดการออมโดยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย ไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะเงินฝากธนาคาร แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต กองทุนรวมประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิ LTF และ RMF ที่ลงทุนแล้วสามารถได้ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 37% นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์มากมายนับไม่ถ้วนจากสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว ทุกค่ายก็ต่างนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาลด แลก แจก แถม ประหนึ่งว่าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่เราจับจ่ายอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศการช็อปผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเมามัน เสริมบรรยากาศเทศการช็อปปิ้งได้อีกทาง แทนที่จะช็อปแล้วเสียสตางค์ แต่หากช็อปหน่วยลงทุนอาจได้กำไรเป็นผลตอบแทน การที่สถาบันการเงินและภาครัฐต่างออกมาส่งเสริมการออมและการลงทุนนั้นนับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” มิเช่นนั้นอาจน้ำตาตกได้ในท้ายที่สุด ไปๆ มาๆ การช็อปผลิตภัณฑ์ทางการเงินอาจสร้างผลเสีย (เสียสตางค์) ไม่ต่างจากที่เราจับจ่ายสินค้าทั่วไปก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การจะลงทุนก็ควรจะต้องมีสติให้มากอย่าหลงไปกับคำโฆษณา โปรโมชัน ทั้งนี้เพราะโปรโมชันมักจะเป็นผลตอบแทนระยะสั้น ส่วนการลงทุนนั้นต้องดูผลระยะยาว แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันนะครับ ว่าถ้าเราไม่อยู่ในแวดวงเงินๆ ทองๆ นั้น จะให้มานั่งศึกษาทำความเข้าใจก็คงยาก ลำพังแค่ทำมาหากินก็ใช้สมองมากพออยู่แล้ว หากจะต้องมานั่งศึกษาเรียนรู้เรื่องการลงทุนอีกก็คงจะหัวฟูไปกันใหญ่ แม้จะคิดเช่นนี้ ผมก็ต้องขอให้เราบังคับตัวเองให้ศึกษากันหน่อยครับ เพราะหากเราไม่วางแผนให้รอบคอบก่อนจะเริ่มลงทุน เงินที่หามาด้วยความยากลำบากอาจจะต้องมลายหายไปกับตา หรือลงทุนไปได้เงินไม่พอใช้ก็ได้นะครับ ด้วยเหตุนี้เอง “การวางแผนทางการเงิน” จึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ ถึงมันจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่น่ายากจนเกินไป เพียงเล็งเห็นประโยชน์ ความสำคัญ และตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง เริ่มง่ายๆ เพียงนึกอยู่เสมอว่า “ควรจะจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของการใช้เงินที่วางแผนไว้” โดยเริ่มต้นจากขั้นตอนง่ายๆ เพียง 7 ข้อที่ผมลองลิสต์มาให้ลองทำกันดูนะครับ 1) กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน อาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายคร่าวๆ ว่าเราอยากบรรลุเป้าหมายทางการเงินในเรื่องอะไร และต้องใช้เวลาเท่าไร เช่น อยากเกษียณจากการทำงานตอนอายุเท่าไร ตอนนั้นอยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไร หรืออยากมีลูกกี่คน ต้องเตรียมทุนการศึกษาให้ลูกเรียนถึงระดับไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เป็นต้น 2) รวบรวมข้อมูลทางการเงินทั้งของตนเอง ครอบครัว และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เช่น รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพัน ทิศทางการลงทุนในปัจจุบันและอนาคต 3) วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าสถานะทางการเงินในปัจจุบันของท่านเป็นอย่างไร มีเงินเก็บสุทธิเท่าไร และยังขาดอีกเท่าไร เพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนั้นยังต้องพยายามมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นเพิ่มเติมด้วย (ถ้ามี) 4) จัดทำแผนการเงิน โดยประเมินทางเลือกที่ดีที่สุดที่มีอยู่ แล้วเขียนแผนการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา 5) นำแผนไปปฏิบัติภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ต้องออมให้ได้เดือนละเท่าไร ต้องนำเงินไปลงทุนอะไรบ้าง หรือต้องทำประกันภัยเพิ่มในเรื่องอะไรบ้าง โดยต้องมีการตรวจทานด้วยว่าได้ทำครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่อย่างเคร่งครัด 6) ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน หลังจากปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ต้องหมั่นตรวจสอบและประเมินผลที่เกิดขึ้นว่าได้ผลตามที่คาดหวังหรือไม่ และควรจะมีการปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการทบทวนแผนการเงินปีละ 1 ครั้ง 7) ทบทวนและปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ คนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ตามที่ต้องการ มักเกิดจากการไม่มีวินัยในตนเอง หรือไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการเงินที่วางไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันการปฏิบัติตามแผนการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด ไม่มีความยืดหยุ่น ก็อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้น การวางแผนการเงินที่ดีจึงควรมีการทบทวน และปรับปรุง แผนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเดินทางไปยังเป้าหมายเป็นการเดินทางที่อยู่บนเส้นทางแห่งความเป็นจริง เพราะ “เงิน” มีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเครื่องวัดค่าสิ่งของต่างๆ แต่เงินยังสามารถสะสมเพื่อเพิ่มค่าได้ในอนาคต การวางแผนการเงินส่วนบุคคล อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ท่านสามารถจัดการกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายชีวิตของท่านได้ เมื่อได้หลักการแล้วลองทำก็จะรู้ความต้องการ ปริมาณเงินที่ต้องใช้ จำนวนเงินที่จะต้องออม จำนวนปีที่จะออมได้ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการลงทุน หลังจากนั้นค่อยมามองเรื่องโปรโมชันจากการลงทุนเป็นเรื่องสุดท้าย ซึ่งจะไม่มองก็ไม่ได้นะครับ เพราะหากผลตอบแทนระยะยาวที่ประเมินจากความสามารถไม่ต่างกัน ก็จะต้องดูที่โปรโมชันต่อไป ปีนี้ส่วนตัวผมดูแล้วยังหวั่นไหว แทบจะซื้อโดยไม่คิด เพราะสถาบันการเงินต่างๆ โหมโปรโมชันกันอย่างแรง ตั้งแต่ตุ๊กตาตัวยักษ์ๆ บัตรชมคอนเสิร์ต เครื่องใช้ไฟฟ้า แรงสุดไปถึงเงินคืนเข้าบัญชีกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ หลายสถาบันยังให้สามารถซื้อหน่วยลงทุนและประกันผ่านบัตรเครดิตได้อีก โดยให้คะแนนสะสมเป็นโบนัสตามเกณฑ์ที่ตั้ง เพิ่มแรงสุดก็ให้เท่ากับการใช้จ่ายปกติ หากนำมาคำนวณเป็นเงินคืนเข้าบัญชีก็ไม่ใช่น้อยๆ หากมองแล้วยังยากอยู่ ก็คงต้องหาคนมาช่วยวางแผนแล้วละครับ ปัจจุบันหลายๆ สถาบันการเงินเริ่มมีบริการวางแผนทางการเงินสำหรับลูกค้าอยู่ สำหรับธนาคารที่ผู้เขียนทำงานก็มีเช่นกัน เรียกว่า K-WePlan หากสนใจสามารถลองถามสาขาใกล้บ้านดูนะครับ ข้อสำคัญ ก่อนจะไปใช้บริการควรจะต้องตั้งเป้าหมาย และเตรียมข้อมูลสถานการณ์เงินปัจจุบันไว้ด้วย ยิ่งมีข้อมูลมากจะยิ่งช่วยให้การวางแผนคมชัด คาดหวังผลได้แม่นยำขึ้น ได้ผลลัพธ์เสร็จก็นำไปใช้ต่อไป ขอให้เทศกาลแห่งความสุขที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นเทศกาลที่ทุกท่านจะมีความสุข มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ มีเหลือเก็บออมและลงทุนกันทั่วหน้านะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ Post Today Last update : 11/25/2009 11:27:35 AM *************************************************************************** |