หัวข้อ: วังนาคินทร์คำชะโนด 1/2 เริ่มหัวข้อโดย: jacky ที่ พฤษภาคม 07, 2010, 08:27:58 PM วังนาคินทร์คำชะโนด 1/2
วังนาคินทร์คำชะโนดหรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เมืองชะโนด สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของตำบลวังทอง ตำลบบ้านม่วงและตำบลบ้านจันทร์อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ลักษณะพื้นที่โดยรอบเป็นเกาะ มีต้นชะโนดเกิดขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 20 ไร่ เป็นต้นไม้ชนิดที่หายากมากในประเทศไทย ภายในป่าชะโนดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์อยู่ตรงกลางเกาะ เรียกว่า บ่อคำชะโนด เป็นน้ำใต้ดินที่พุ่งไหลซึมตลอดเวลา ทางจังหวัดได้เลือกน้ำจากบ่อนี้ไปร่วมในพิธีสำคัญเสมอ นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าพ่อพระยาศรีสุทโธที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง มีเรื่องเล่ากันว่า สุทโธเป็นพญานาคครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นพญานาคเช่นเดียวกันปกครอง มีชื่อว่า สุวรรณนาค และมีบริวารฝ่ายละ 5,000 เช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีอาหารการกินก็แบ่งกันกิน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเพื่อนตายกันตลอดมา แต่มีข้อตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปหากินล่าเนื้อหาอาหารอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องออกไปล่าเนื้อหาอาหาร เพราะเกรงว่าบริวารไพร่พลจะกระทบกระทั่งกันและอาจจะเกิดรบรากันขึ้น แต่ให้ฝ่ายที่ออกไปล่าเนื้อหาอาหารนำอาหารที่หามาได้แบ่งกันกินฝ่ายละครึ่ง การกระทำโดยวิธีนี้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตลอดมา (http://forum.narandd.com/imageupload/image/l21x7m-c574ec.jpg) อยู่มาวันหนึ่งสุวรรณนาคพาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้ช้างมาเป็นอาหาร ได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งพร้อมกับนำขนของช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐานต่างฝ่ายต่างกินเนื้ออย่างอิ่มหนำสำราญด้วยกันทั้งสองฝ่าย และวันต่อมาอีกวันหนึ่งสุวรรณนาคได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้เม่นมา สุวรรณนาคได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม พร้อมทั้งนำขนของเม่นไปให้ดู ปรากฎว่าเม่นตัวเล็กนิดเดียว แต่ขนของเม่นใหญ่ เม่นตัวเล็กเมื่อแบ่งเนื้อเม่นให้สุทโธนาคจึงต้องแบ่งให้น้อย สุทโธนาคได้พิจารณาดูขนเม่นเห็นว่าขนาดขนช้างเล็กนิดเดียวตัวยังใหญ่โตขนาดนี้ แต่นี่ขนใหญ่ขนาดนี้ตัวจะใหญ่โตขนาดไหน ถึงอย่างไรตัวเม่นจะต้องใหญ่กว่าช้างอย่างแน่นอน คิดได้อย่างนี้จึงให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งไปคืนให้สุวรรณนาคพร้อมกับฝากบอกไปว่า "ไม่ขอรับอาหารส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์" ฝ่ายสุวรรณนาคเมื่อได้ยินดังนั้น จึงได้รีบเดินทางไปพบสุทโธนาคเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่นถึงแม้ขนมันจะใหญ่โตแต่ตัวเล็กนิดเดียว ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้เป็นอาหารเสียเถิด สุวรรณนาคพูดเท่าไรสุทโธนาคก็ไม่เชื่อ ผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามกัน ฝ่ายสุทโธนาคซึ่งมีความโกรธเป็นทุนอยู่ตั้งแต่เห็นเนื้อเม่นอยู่แล้วจึงสั่งบริวารไพร่พลทหารรุกรบทันที ฝ่ายสุวรรณนาคจึงรีบเรียกระดมบริวารไพร่พลต่อสู้ทันทีเช่นเดียวกัน ตามการบอกเล่าสู่กันฟังมาว่าพญานาคทั้งสองรบกันอยู่ถึง 7 ปี ต่างฝ่ายต่างเมื่อยล้า เพราะต่างฝ่ายต่างหวังจะเอาชนะกันให้ได้ เพื่อจะครองความเป็นใหญ่ในหนองกระแสเพียงคนเดียวจนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บริเวณหนองกระแสและบริเวณรอบๆ หนองกระแสเกิดความเสียหายเดือดร้อนไปตามกัน เมื่อเกิดรบกันรุนแรงที่สุดจนทำให้พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวทั้งหมด เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายเกิดความเดือดร้อนไปทั้งสามภพ คือ บาดาล โลกมนุษย์และสวรรค์ พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวไปทั่ว ความเดือดร้อนจึงทราบถึงพระอินทร์ จึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ที่หนองกระแส แล้วตรัสเป็นโองการให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบกัน ให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายเสมอกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะและให้สร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกไปอยู่ในแม่น้ำนั้น พญาสุทโธนาคจึงพาบริวารสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนมีภูเขาขวางอยู่ แม่น้ำจะคดโค้งไปตามภูเขา เพราะสุทโธนาคเป็นนาคใจร้อน แม่น้ำสายนี้เรียกว่า "แม่น้ำโขง" คำว่าโขง มาจากคำว่า โค้ง หรือไม่ตรงนั่นเอง ส่วนสุวรรณนาค เมื่อได้รับโองการจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ พญาสุวรรณนาคเป็นนาคที่ใจเย็น พิถีพิถันและตรง การสร้างแม่น้ำจึงทำให้ตรง แม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำน่าน" เป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย ในการสร้างแม่น้ำแข่งขันกันในครั้งนั้นปรากฏว่าแม่น้ำโขงชองสุทโธนาคสร้างเสร็จก่อนจึงเป็นผู้ชนะและมีปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก ตามตามราชโองการของพระอินทร์และสุทโธนาคได้เข้าเฝ้าพระอินทร์ทูลขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์เอาไว้ 3 แห่ง พระอินทร์จึงทรงอนุญาตให้มีทางขึ้นลงได้ ดังนี้ 1. ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ 2. ที่หนองคันแท 3. ที่พรหมประกายโลก (ที่คำชะโนด) ส่วนที่ 1-2 เป็นทางขึ้นลงสู่เมืองบาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนสถานที่ 3 ที่พรหมประกายโลกคือที่พรหมได้กลิ่นไอดิน (ตามตำนานพรหมสร้างโลก) แล้วพรหมเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์หรือผู้ให้กำเนิดมนุษย์ ให้สุทโธนาคไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่ที่นั่น ซึ่งมีต้นชะโนดหรือซะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ลักษณะต้นชะโนดให้เอาต้นมะพร้าว ต้นหมากและต้นตาลอย่างละเท่าๆ กันผสมกัน ในเวลา 1 เดือนทางจันทรคติ ข้างขึ้น 15 ค่ำให้พญานาคสุทโธและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกชื่อว่าเจ้าปู่ศรีสุทโธ และอีก 15 วันข้างแรม ให้พญานาคและบริวารกลายร่างเป็นนาคเรียกชื่อว่า พญานาคศรีสุทโธนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงกึ่งพุทธกาล นับแต่ปี พ.ศ.2500 ถอยหลังไป พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะไปพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญประจำปีหรือบุญมหาชาติที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญพระเวท ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่บ่อยครั้งและบางทีจะเป็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูก (ฟืม) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำและปาฏิหาริย์ครั้งล่าสุดคือ ปี พ.ศ.2519 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (รวมทั้งท้องที่อำเภอบ้านดุง) แต่น้ำไม่ท่วมคำชะโนด เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธได้จัดมีการแข่งเรือและประกวดชายงามที่เมืองชะโนด นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง ได้บวชอยู่ที่วัดศิริสุทโธ (วัดโนนตูมและได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2533) ติดกับเมืองชะโนดได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากเจ้าพ่อพญาศรีสุทโธให้ไปประกวดชายงามและบุคคลดังกล่าวเกิดความคลุ้มคลั่งอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ญาติพี่น้องได้ทำการรักษาโดยใช้หมอเวทมนต์ (อีสานเรียกว่า หมอทำ) จัดเวรยามอยู่เฝ้ารักษาและในที่สุดได้หายไปนานประมาณ 6 ชั่วโมง แล้วได้กลับมาและได้เล่าเรื่องเมืองชะโนดให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายฟังถึงความงามความวิจิตรพิสดารต่างๆ ของเมืองบาดาลให้ผู้สนใจฟัง ปัจจุบันนี้คำชะโนดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีชื่อเสียงในระดับประเทศ เรือตรี อนิวรรตน์ พะโยมเยี่ยม อดีตนายอำเภอบ้านดุง ได้ชักชวนข้าราชการทุกฝ่ายตลอดทั้ง ตำรวจ อส. พ่อค้าประชาชนได้ทำสะพานทางเข้าเมืองชะโนด ตลอดทั้งปรับปรุงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวอำเภอบ้านดุงและจังหวัดอื่นและจนได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดอุดรธานีให้นำน้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์คำชะโนดไปร่วมงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร ในวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 และในปี พ.ศ.2533 นายมังกร มาเวียงปลัดอำเภอบ้านดุง (หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ) ได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดทำบุญทอดผ้าป่าสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความมั่นคงแข็งแรงเข้าไปเมืองชะโนด มีอะไรหลายอย่างพิสูจน์ไม่ได้ที่ป่าคำชะโนด (http://forum.narandd.com/imageupload/image/l21x9c-f55fff.jpg) ป่าคำชะโนดกลายเป็นสถานที่เลื่องชื่อชั่วข้ามคืนก็เพราะเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง” (คนอีสานเรียก ผีบังบดหรือเมืองลับแล ไม่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป นอกเสียจากว่าจะมีอะไรดลใจให้เห็น) อันสุดแสนมหัศจรรย์พันลึกที่เกิดขึ้น เมื่อบริษัทหนังเร่ชื่อก้องแห่งภาคอีสานถูกว่าจ้างจากใครคนหนึ่งให้ไปฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านวังทอง ด้วยจำนวนเงิน 4,000 บาท แต่มีข้อแม้คือ ต้องฉายจบแค่ตี 4 ของวันใหม่และให้ออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสาง โดยห้ามหันหลังกลับมามอง “หนังจะเริ่มฉายตั้งแต่หัวค่ำแล้วละ แต่ตอนนั้นไม่มีผู้คนมาดูเลย พอ 3 ทุ่ม ก็มีคนมาดูจำนวนเยอะมาก แต่ที่แปลกก็คือ ผู้หญิงจะนุ่งขาวห่มขาวนั่งอยู่ด้านหน้า ส่วนผู้ชายใส่เสื้อผ้าสีดำนั่งอีกข้าง และทั้งหมดก็นั่งกันสงบเรียบร้อยเหมือนไม่มีการเคลื่อนไหวตัวเลย ยิ่งกว่านั้นไม่ว่าจะฉายหนังอะไรก็ไม่มีการส่งเสียงเอะอะเหมือนหนังกลางแปลงทั่วไป ฉายหนังบู๊ก็เฉย ฉายหนังตลกก็เงียบ แต่ที่น่าแปลกคือ ในงานไม่มีร้านขายของกินของใช้ แม้แต่ร้านขายบุหรี่ก็ไม่มี” ถ้อยคำบางส่วนที่ ธงชัย แสงชัย เจ้าของบริษัทหนังเร่กล่าว ถ่ายทอดไว้ในปี พ.ศ.2532 จากประสบการณ์ตรงของลูกน้องที่โดนผีจ้างหนังไปฉาย 18 ปีล่วงผ่าน ดูเหมือนเรื่องเล่านี้ยังคงเป็นที่โจษขานสืบมา โดยเฉพาะในหมู่ชาว ต.วังทอง ผู้เชื่อมั่นและศรัทธาต่อผืนป่า เหตุการณ์ “ผีจ้างหนัง” จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามีอยู่จริง แม้อาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ได้ที่นี่เคยเกิดเหตุการณ์ผีจ้างหนัง ชาวบ้านจากบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับป่าคำชะโนด ได้เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ตัวเขาคุ้นเคยกับป่าแห่งนี้ดีและเชื่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทหนังเร่ เพราะอาจเป็นวันเฉลิมฉลองของเจ้าที่พอดีจึงเจอเข้าโดยบังเอิญ “ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยเจออะไรผิดปกตินะ เพราะส่วนที่เป็นป่าใครก็ไม่กล้ารุกล้ำ แค่เดินเข้าไปนิดเดียวเจอน้ำแล้ว ถ้าไม่ใช่อำนาจของท่านทำขึ้น คนฉายหนังก็คงไม่สามารถไปตั้งจอหนังได้หรอก” ป่าคำชะโนดเป็นชื่อที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ เนื่องจากบริเวณนั้นมีต้นชะโนด (อยู่ในตระกูลเดียวกับปาล์ม คล้ายๆ ต้นตาล ต้นหมากหรือไม่ก็ต้นมะพร้าว แต่สูงกว่า) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทิวชะโนดสูงเด่นเป็นสง่า - ปี พ.ศ.2520 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น จนมาถึงปี พ.ศ.2544 ชาวบ้านสำรวจอีกครั้งพบว่าต้นชะโนดลดลงเหลือเพียง 1,865 ต้น ถึงกระนั้นที่นี่ยังคงความเย็นชื้นและให้บรรยากาศวังเวงเหมือนเดิม ต้นชะโนด มีที่เดียวคือที่นี่ แต่ที่น่าแปลกใจคือ หากพ้นจากดงชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็ไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว นี่เองจึงทำให้ผืนดินราว 20 ไร่ ถูกตั้งฉายาให้เป็นป่าแห่งชะโนดขนานแท้ (http://forum.narandd.com/imageupload/image/l21xc6-f6e2bc.jpg) “เคยมีคนคิดเอาต้นชะโนดไปปลูกที่อื่นนะ แต่ไม่นานก็ต้องเอากลับมาคืนที่เดิม เพราะชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตครอบครัวมีแต่ความเดือดร้อน ขนาดว่าแค่เอาเมล็ดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นใบแห้งๆ ออกจากป่า สุดท้ายต้องเอามาคืนกันหมด” ทองอินทร์ย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในป่าคำชะโนดให้ฟัง กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของป่าแห่งนี้ คนภายนอกฟังดูอาจคิดว่าเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนกลัวกันเล่นๆ สำหรับชาวบ้านที่อยู่มานานนมกลับเชื่อสนิทใจ ไม่ใช่นิทานปรัมปราหรือนิยายประโลมโลก แต่นั่นคือแรงศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อป่าอันลี้ลับและเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย เช่นที่กำลังจะเล่าให้ฟังจากนี้อีก ซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวพันถึงพญานาค เดิมทีคนท้องถิ่นจะเรียกที่นี่ว่า “วังนาคินทร์คำชะโนด” ที่มาก็คือมีบ่อน้ำอยู่กลางดงชะโนด เป็นบ่อน้ำขนาดเล็กๆ แต่กลับมีน้ำซึมออกมาตามธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำประทานมาให้โดยพญานาคที่อาศัยอยู่ในบริเวณผืนป่า สำหรับบ่อน้ำในป่าคำชะโนดว่ากันว่าเป็นบ่อน้ำที่ความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวบ้านเชื่อกันอย่างนั้น มีหลายคนเคยลองอธิษฐานตรงหน้าบ่อน้ำก็ได้ตามประสงค์ บางคนเจ็บป่วยไปดื่มหรืออาบโรคร้ายก็หายเป็นปลิดทิ้ง สร้างความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน อยู่ที่ความเชื่อมีมากน้อยแค่ไหน หลายคนไม่เชื่อแถมยังลบหลู่ ตักน้ำจากบ่อแล้วนำมาล้างเท้าแทนที่จะหายป่วยไข้กลับทุกข์ทรมานซ้ำหนักกว่าเดิม (http://forum.narandd.com/imageupload/image/l21xd3-71b513.jpg) มี่ต่อ หน้า2/2 --------------------------------------------- |