หน้าร้านดีดี บอร์ด

คนรักเมืองระยอง,ชลบุรี,จันทบุรี => รวมข้อมูลจังหวัดชลบุรี => ข้อความที่เริ่มโดย: ka1 ที่ พฤศจิกายน 16, 2011, 09:36:53 PM



หัวข้อ: ประวัติเมืองชลบุรี 1/2
เริ่มหัวข้อโดย: ka1 ที่ พฤศจิกายน 16, 2011, 09:36:53 PM
ประวัติเมืองชลบุรี 1/2

จังหวัดชลบุรี เป็นดินแดนที่ปรากฏขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี  ขอม  และสุโขทัย  
แต่เดิมเป็นเพียงเมืองเกษตรกรรมและชุมชนประมงเล็กๆหลายเมืองกระจัดกระจายกันอยู่ห่างๆ
โดยในทำเนียบศักดินาหัวเมืองสมัยอยุธยากำหนดให้ชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวา  
ส่วนแผนที่ไตรภูมิก็มีชื่อตำบลสำคัญของชลบุรีปรากฏอยู่  เรียงจากเหนือลงใต้  
คือ เมืองบางทราย  เมืองบางปลาสร้อย  เมืองบางพระเรือ  (ปัจจุบันคือบางพระ) และเมืองบางละมุง  
แม้ว่าจะเป็นเพียงเมืองเล็กๆ แต่ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล  มีการทำไร่  ทำนา ทำสวน
และออกทะเลมาแต่เดิม  นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกับชาวจีนที่ล่องเรือสำเภาเข้ามาค้าขายกับกรุงสยามด้วย
ดินแดนที่เรียกว่าจังหวัดชลบุรี   มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว  
คือสามารถย้อนไปได้จนถึงยุคหินขัด  เช่น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำพานทองเคยมีมนุษย์ยุคหินใหม่อาศัยอยู่
โดยชนกลุ่มนี้นิยมใช้ขวานหินขัดเพื่อการเก็บหาล่าไล่ รวมถึงใช้ลูกปัดและกำไล
ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีลายที่เกิดจากการใช้เชือกทาบลงไปขณะดินยังไม่แห้ง  
นอกจากนี้ยังพบเศษอาหารทะเลพวกหอย  ปู  และปลาอีกด้วย  
เมื่อปี พ.ศ. 2522 ได้มีการขุดสำรวจที่ตำบลพนมดี อำเภอพนัสนิคม
พบร่องรอยของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์โคกพนมดี  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า  
ภายในเนื้อที่ 4,363 ตารางกิโลเมตรของชลบุรี  อดีตเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความรุ่งเรืองถึง 3 เมือง  
ได้แก่  เมืองพระรถ  เมืองศรีพโล  และ เมืองพญาแร่  โดยอาณาเขตของ 3 เมืองนี้รวมกันเป็นจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน


เมืองพระรถ
ในสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี ประมาณ 1,400-700 ปีก่อน
บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคมในปัจจุบัน มีร่องรอยของเมืองใหญ่ชื่อ “เมืองพระรถ”
ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มซึ่งแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำพานทอง โดยสามารถใช้แม่น้ำสายนี้
เป็นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี
 (ปัจจุบันคือบริเวณบ้านสระมะเขือ  บ้านโคกวัด และบ้านหนองสะแก อำเภอศรีมโหสถ)  
จนไปถึงอำเภออรัญประเทศได้  อีกทั้งยังมีเส้นทางเดินเท้าเชื่อมไปถึงจังหวัดระยองและจันทบุรี  
ผ่านเมืองพญาเร่ซึ่งเป็นเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชลบุรี  
เมืองพระรถจึงกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของชลบุรีในยุคนั้น
นอกจากนี้  นักโบราณคดียังสำรวจ พบว่าเมืองพระรถเป็นเมืองโบราณยุคเดียวกับเมืองศรีพโล
หรือเก่ากว่าเล็กน้อย  เนื่องจากปรากฏว่ามีทางเดินโบราณเชื่อมต่อสองเมืองนี้ในระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

เมืองศรีพโล
“เมืองศรีพโล” ตั้งอยู่บริเวณบ้านอู่ตะเภา ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี
หน้าเมืองมีอาณาเขตจรดตำบลบางทรายในปัจจุบัน  เคยมีผู้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง
เช่น พระพุทธรูปทองคำ สัมฤทธิ์ แก้วผลึก ขันทองคำ ถ้วยชามสังคโลกคล้ายของสุโขทัย
จระเข้ปูน และก้อนศิลามีรอยเท้าสุนัข เป็นต้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเมืองศรีพโลเป็นเมือง
ในสมัยขอมเรืองอำนาจแห่งภูมิภาคอุษาคเนย์ และอาจจะมีอายุร่วมสมัยกับลพบุรีซึ่งอยู่หลังยุคอู่ทอง
 และก่อนยุคอยุธยาคือประมาณปี พ.ศ. 1600-1900
 
จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า  
ตัวเมืองศรีพโลตั้งอยู่ใกล้กับปากน้ำบางปะกง  โดยเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนในสมัยสุโขทัย  
เมืองนี้มีฐานะเป็นเมืองท่าชายทะเลที่มั่งคั่ง  เปิดรับเรือสำเภาจากจีน กัมพูชา และเวียดนาม
ให้มาจอดพักก่อนเดินทางต่อไปยังปากน้ำเจ้าพระยา (เป็นที่น่าเสียดายว่ากำแพงเมืองศรีพโล
ได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นจากการก่อสร้างถนนสุขุมวิท จึงไม่เหลือร่องรอยทางโบราณคดีไว้ให้ศึกษา)  
ต่อมาในสมัยอยุธยาเมืองศรีพโลก็ค่อยๆหมดความสำคัญลง อาจเพราะปากแม่น้ำตื้นเขิน
จากการพัดพาสะสมของตะกอนจำนวนมหาศาล  ประชาชนจึงย้ายถิ่นฐานลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บางปลาสร้อย”
 ซึ่งก็คือ “เมืองชลบุรี” ในปัจจุบัน (วัดใหญ่อินทารามในตัวเมืองชลบุรีปัจจุบัน
ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังการค้าขายระหว่างคนไทย จีน  และฝรั่ง  บ่งบอกถึงบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักในอดีต)

เมืองพญาเร่
“เมืองพญาเร่” ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ่อทอง  อำเภอบ่อทอง เป็นเมืองยุคทวารวดีเช่นเดียวกับเมืองพระรถ  
เมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตที่สูง ห่างจากเมืองพระรถประมาณ 32 กิโลเมตร ลักษณะผังเมืองเป็นรูปวงรี 2 ชั้น
ชั้นแรกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,100 เมตร ส่วนชั้นในประมาณ 600 เมตร
โดยคูเมืองและคันดินของตัวเมืองชั้นนอกทางด้านเหนือยังคงปรากฏเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน
 
เมืองพญาเร่มีการติดต่อกับเมืองพระรถอยู่เนืองๆโดยใช้คลองหลวงเป็นเส้นทางสัญจร  
ปัจจุบันลำคลองนี้ยังคงอยู่  โดยเป็นคลองสายสำคัญและมีความยาวที่สุดของจังหวัดชลบุรี  
ทุกวันนี้การทำนาในอำเภอพนัสนิคมและอำเภอพานทอง  ยังคงอาศัยน้ำจากคลองนี้
 เนื่องจากมีแควหลายสายแตกสาขาออกไป  แควใหญ่ที่สุด  คือ  แควที่เกิดจากทิวเขาป่าแดง


--------------------------------------------