หัวข้อ: ประวัติเมืองชลบุรี 2/2 เริ่มหัวข้อโดย: ka1 ที่ พฤศจิกายน 16, 2011, 09:42:48 PM ประวัติเมืองชลบุรี 2/2
สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานในทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตราเมื่อ พ.ศ. 1919 มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้รักษาเมืองคือ “ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร” ศักดินา 2,400 ไร่ ส่งส่วยไม้แดง ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ในปี พ.ศ. 2309 ขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกทัพพม่าล้อมอยู่นั้น กรมหมื่นพิพิธซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์หนึ่ง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ถูกเนรเทศไปลังกา ได้กลับมาเกลี้ยกล่อมรวบรวมชายฉกรรจ์ทางหัวเมืองภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง บางละมุง ชลบุรี และปราจีนบุรี เข้าร่วมกองทัพ อ้างว่าจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่า ในครั้งนั้นชาวชลบุรีได้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมทัพเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมืองชลบุรีแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธยกไพร่พลไปตั้งมั่นที่ปราจีนบุรีแล้ว จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ณ กรุงศรีอยุธยา ขออาสาช่วยป้องกันพระนคร แต่พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ทรงพระราชดำริว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจนถูกเนรเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง การที่มาเรียกระดมผู้คนเข้าเป็นกองทัพโดยพลการครั้งนี้ก็เป็นการทำผิดกฎมณเทียรบาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธจนบอบช้ำ จากนั้นพม่ายังได้ส่งกองทัพเข้าโจมตีกองทัพกรมหมื่นพิพิธจนแตกพ่าย จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ชาวชลบุรี ได้ให้ความร่วมมือกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการกอบกู้อิสรภาพอย่างใกล้ชิด จนสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้สำเร็จ สมัยกรุงรัตโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระอินทอาษาชาวเมืองเวียงจันทน์ ได้พาชาวลาวจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นอาศัยอยู่ระหว่างเมืองชลบุรีและฉะเชิงเทรา (บริเวณเมืองพนัสนิคมในปัจจุบัน) ครั้นต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4-6 พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของสยาม ได้เสด็จประพาสชลบุรีหลายหน เนื่องจากชลบุรีเป็นเมืองชายทะเลที่มีทัศนียภาพงดงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก จนถึงปี พ.ศ. 2350 พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) รัตนกวีของไทย ได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลงกล่าวถึงเมืองต่างๆ เมื่อเข้าถึงเขตจังหวัดชลบุรีตามลำดับจากเหนือไปใต้ คือ บางปลาสร้อย หนองมน บ้านไร่ บางพระ บางละมุง นาเกลือ พัทยา นาจอมเทียน ห้วยขวาง และหนองชะแง้ว (ปัจจุบันเรียกบ้านชากแง้ว อยู่ในเขตอำเภอบางละมุง ซึ่งเป็นทางที่จะไปอำเภอแกลง จังหวัดระยองได้) ในช่วง พ.ศ. 2437 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักรที่เป็นหัวเมืองเล็กๆแบบโบราณ ยุบรวมเข้าด้วยกัน ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว ดังมีบันทึกว่า “รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน” ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม ครั้นถึงช่วงปี พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงรวมมณฑลจัดตั้งขึ้นเป็น “ภาค” โดยมีอุปราชเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจเหนือสมุหเทศาภิบาล มีด้วย กัน 4 ภาค คือ ภาคพายัพ ภาคปักษ์ใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก สำหรับภาคกลางให้คงเป็นมณฑลอยู่อย่างเดิม เรียกว่ามณฑลอยุธยา มีอุปราชปกครองแทนสมุหเทศาภิบาล การปกครองหัวเมืองแบบแบ่งเป็นภาค และมีตำแหน่งอุปราชเช่นนี้ยกเลิกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยกลับไปใช้ในลักษณะเป็นมณฑลอย่างเดิม ในลักษณะที่มีจำนวนมากถึง 20 มณฑล และภายใน 10 ปีต่อมา คือก่อน พ.ศ. 2475 ได้ยุบลงเหลือเพียง 10 มณฑลเป็นครั้งสุดท้าย สรุปความเป็นมาของจังหวัดชลบุรี 1. ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดชลบุรีมีเมืองศรีพโลและเมืองพระรถตั้งอยู่แล้ว โดยทุกวันนี้ยังมีหลักฐานความเป็นเมืองบางอย่างปรากฏชัดอยู่ 2. ยุคกรุงศรีอยุธยา เมืองศรีพโลและเมืองพระรถอาจเสื่อมไปแล้ว และมีชุมชนที่รวมกันอยู่หลายจุด ในลักษณะเป็นบ้านเมือง อาทิ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ บางละมุง ฯลฯ 3. ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็น 3 ช่วงย่อยๆ ได้แก่ ช่วงแรก (ก่อน พ.ศ. 2440 หรือ ร.ศ. 115) ช่วงนี้จังหวัดชลบุรียังไม่เกิดขึ้น แต่ได้มีเมืองต่างๆ ในพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เมืองบางปลาสร้อย เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง ช่วงสอง (หลัง พ.ศ. 2440-2475) ขณะนั้นคำว่า “จังหวัด” มีใช้แห่งเดียวในราชอาณาจักร คือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เข้าใจว่าคำว่า “เมืองชลบุรี” มีชื่อเรียกในช่วงนี้ โดยมีอำเภอเมืองบางปลาสร้อย (ที่ตั้งตัวเมือง) อำเภอพานทอง อำเภอบางละมุง และอำเภอพนัสนิคม อยู่ในเขตการปกครองระยะต้น ต่อมาในระยะหลังปี พ.ศ. 2460 จึงมีอำเภอศรีราชาและอำเภออื่นๆ เกิดขึ้นรวมกันอยู่ในเขตเมืองชลบุรี ช่วงสาม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน) มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา เมืองชลบุรีจึงกลายเป็นจังหวัดชลบุรี และเปลี่ยนข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ---------------------------------- |