หน้าร้านดีดี บอร์ด

พระเกจิอาจารย์ => ประวัติพระเจ้า10ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: ka1 ที่ มกราคม 25, 2010, 06:02:11 PM



หัวข้อ: มโหสถชาดก (1/2)
เริ่มหัวข้อโดย: ka1 ที่ มกราคม 25, 2010, 06:02:11 PM
มโหสถชาดก (1/2)

                     ในเมืองมิถิลา มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีนามว่า สิริวัฒกะ ภรรยาชื่อ นางสุมนาเทวี นางสุมนาเทวีมีบุตรชายคนหนึ่ง
ซึ่งเมื่อคลอด ออกมานั้นมีแท่งโอสถอยู่ในมือ เศรษฐีสิริวัฒกะเคยเป็นโรค ปวดศีรษะมานาน จึงเอาแท่งยานั้นฝนที่หินบดยา
แล้วนำมา ทาหน้าผาก อาการปวดศีรษะก็หายขาด ครั้นผู้อื่นที่มีโรคภัย ไข้เจ็บมาขอปันยานั้นไปรักษาบ้าง ก็พากันหายจากโรค
เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่า "มโหสถ" เพราะทารกนั้นมีแท่งยาวิเศษ เกิดมากับตัว เมื่อมโหสถเติบโตขึ้น
ปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กว่าเด็กในวัยเดียวกัน ครั้งหนึ่งมโหสธเห็นว่า ในเวลาฝนตก ตนและเพื่อนเล่นทั้งหลายต้องหลบฝน
ลำบากลำบนเล่นไม่สนุก จึงขอให้เพื่อนเล่นทุก คนนำเงินมารวมกันเพื่อสร้างสถานที่เล่น มโหสธจัดการออกแบบอาคาร
นั้นอย่างวิจิตรพิสดาร นอกจาก ที่เล่นที่กินและที่พักสำหรับคนที่ผ่านไปมาแล้ว ยังจัดสร้างห้อง วินิจฉัยคดีด้วย
เพราะความที่มโหสธเป็นเด็กฉลาดเฉลียวเกินวัย จึงมักมีผู้คนมาขอให้ตัดสินปัญหาข้อพิพาท หรือแก้ใขปัญหาขัดข้อง
ต่างๆ อยู่ เสมอ ชื่อเสียงของมโหสธเลื่องลือไปไกลทั่วมิถิลานคร

           ในขณะนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลา ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำ ราชสำนัก 4 คน
คือ เสนกะ ปุกกุสะกามินทะ และ เทวินทะ บัณฑิตทั้ง 4 เคยกราบทูลว่าจะมี บัณฑิต คนที่ห้ามาสู่ราชสำนักพระเจ้าวิเทหราช
พระองค์จึงโปรดให้ เสนาออกสืบข่าวว่า มีบัณฑิตผู้มีสติปัญญา ปราดเปรื่องอยู่ที่ใดบ้าง เสนาเดินทางมาถึงบริเวณบ้าน
ของสิริวัฒกะเศรษฐี เห็นอาคารงดงาม จัดแต่งอย่างประณีตบรรจง จึงถามผู้คนว่าใครเป็นผู้ออกแบบ คนก็ ตอบว่า
ผู้ออกแบบคือมโหสถบัณฑิต บุตรชายวัย 7 ขวบ ของสิริวัฒกะ เศรษฐี เสนาจึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช
พระองค์ตรัสเรียก บัณฑิตทั้ง 4 มา ปรึกษาว่าควรจะไปรับมโหสธมาสู่ราชสำนักหรือไม่ บัณฑิตทั้ง 4 เกรงว่ามโหสธ
จะได้ดีเกินหน้าตนจึงทูลว่า ลำพังการออก แบบตกแต่งอาคารไม่นับว่าผู้นั้นจะมีสติปัญญาสูงถึงขั้นบัณฑิต ขอให้รอดูต่อไปว่า
มโหสธจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจริงหรือไม่ ฝ่ายมโหสธนั้น มีชาวบ้านนำคดีความต่างๆ มาให้ตัดสินอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า
ชายเลี้ยงโคนอนหลับไป มีขโมยเข้ามาลักโค เมื่อตามไปพบ ขโมยก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของโค ต่างฝ่ายต่างถกเถียงอ้างสิทธิ์
ไม่มีใคร ตัดสินได้ว่าโคนั้นเป็นของใคร จึงพากันไปหามโหสถ มโหสถถามชาย เจ้าของโคว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร
ชายนั้นก็เล่าให้ฟัง มโหสธจึงถาม ขโมยว่า "ท่านให้โคของท่านกินอาหารอะไรบ้าง"
ขโมยตอบว่า "ข้าพเจ้าให้กินงา กินแป้ง ถั่ว และยาคู" มโหสธถามชายเจ้าของโค
ชายนั้นก็ตอบว่า"ข้าพเจ้าให้โคกิน หญ้าตามธรรมดา" มโหสธจึงให้ เอาใบไม้มาตำให้โคกินแล้วให้กินน้ำ
โคก็สำรอกเอาหญ้าออกมา จึงเป็นอันทราบว่าใครเป็นเจ้าของโคที่แท้จริง พระเจ้าวิเทหราชได้ทราบเรื่องการตัดสินความของมโหสธก็
ปรารถนาจะเชิญมโหสธาสู่ราชสำนัก แต่บัณฑิตทั้งสี่ก็คอยทูล ทัดทานไว้เรื่อยๆ ทุกครั้งที่มโหสธแสดงสติปัญญาในการตัดสินคดี
พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองสติปัญญามโหสธด้วยการตั้งปัญหา ต่างๆก็ปรากฏว่า มโหสธแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง เช่น เรื่องท่อนไม้
ที่เกลาได้เรียบเสมอกัน พระเจ้าวิเทหราชทรงตั้งคำถามว่า ข้างไหนเป็นข้าง ปลายข้างไหนเป็นข้างโคน มโหสธก็ใช้วิธีผูกเชือก
กลางท่อนไม้นั้น แล้วหย่อนลงในน้ำ ทางโคนหนักก็จมลง ส่วนทาง ปลายลอยน้ำ เพราะน้ำหนักเบากว่าไม้ มโหสธก็ชี้ได้ว่า
ทางไหน เป็นโคนทางไหนเป็นปลาย นอกจากนี้มโหสธยังแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ อีกเป็นอันมาก

        จนในที่สุดพระราชาก็ไม่อาจทนรอตามคำ ทัดทานของ บัณฑิตทั้งสี่ อีกต่อไป จึงโปรดให้ราชบุรุษไปพาตัวมโหสธกับบิดามา
เข้าเฝ้าพร้อมกับให้นำ ม้าอัสดรมาถวายด้วย มโหสธทราบดีว่าครั้งนี้ เป็นการทดลองสำคัญ จึงนัดหมายการอย่างหนึ่งกับบิดา และ
ในวันที่ไปเฝ้าพระราชา มโหสธให้คนนำลามาด้วยหนึ่งตัว เมื่อเข้าไปถึงที่ประทับ พระราชาโปรดให้สิริวัฒกะเศรษฐีนั่งบนที่
อันสมควรแก่เกียรติยศ ครั้นเมื่อมโหสธเข้าไป สิริวัฒกะก็ลุกขึ้น เรียกบุตรชายว่า "พ่อมโหสธ มานั่งตรงนี้เถิด" แล้วก็ลุกขึ้นจากที่นั่ง
มโหสธก็ตรงไปนั่งแทนที่บิดา ผู้คนก็พากันมองดูอย่างตำหนิ ที่มโหสธทำเสมือนไม่เคารพบิดา มโหสธจึง ถามพระราชาว่า
"พระองค์ไม่พอพระทัยที่ข้าพเจ้านั่งแทนที่บิดาใช่หรือไม่" พระราชาทรงรับคำ มโหสธ จึงถามว่า
" ข้าพเจ้าขอทูลถามว่า ธรรมดาบิดาย่อมดีกว่าบุตร สำคัญกว่าบุตรเสมอไปหรือ"
พระราชา ตรัสว่า "ย่อมเป็นอย่างนั้น บิดาย่อมสำคัญกว่าบุตร" มโหสธทูลต่อว่า "เมื่อข้าพเจ้ามาเฝ้า พระองค์มีพระกระแส
รับสั่งว่าให้ข้าพเจ้านำม้าอัสดรมาถวายด้วย ใช่ไหมพระเจ้าค่ะ" พระราชาทรงรับคำ มโหสธจึงให้คนนำลาที่เตรียมเข้ามา
ต่อพระพักตร์ แล้วทูลว่า "เมื่อพระองค์ตรัสว่าบิดาย่อมสำคัญ กว่าบุตร ลาตัวนี้เป็นพ่อของม้าอัสดร หากพระองค์ทรงเห็น
เช่นนั้นจริง ก็โปรดทรงรับลานี้ไปแทนม้าอัสดรเถิดพระเจ้าค่ะ เพราะม้าอัสดรเกิดจากลานี้ แต่ถ้าทรงเห็นว่า บุตรอาจดีกว่าบิดา
ก็ทรงรับเอาม้าอัสดรไปตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ ถ้าหากพระองค์เห็นว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตรก็ทรงโปรด
รับเอาบิดาของข้าพเจ้าไว้ แต่หากทรงเห็นว่าบุตรอาจประเสริฐ กว่าบิดา ก็ขอให้ทรงรับข้าพเจ้าไว้" การที่มโหสธกราบทูลเช่นนั้น
มิใช่จะลบหลู่ดูหมิ่นบิดา แต่เพราะ ประสงค์จะให้ผู้คนทั้งหลายตระหนักใน ความเป็นจริงของโลก และเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผู้จงใจผูกขึ้น
คือบัณฑิตทั้งสี่นั้นเอง พระราชาทรงพอพระทัยในปัญญาของมโหสธจึงตรัสแก่ สิริวัฒกะเศรษฐีว่า
"ท่านเศรษฐี เราขอมโหสธไว้ เป็นราชบุตร จะขัดข้องหรือไม่"
เศรษฐีทูลตอบว่า "ข้าแต่พระองค์ มโหสธยังเด็กนัก อายุ เพิ่ง 7 ขวบ เอาไว้ให้โตเป็นผู้ใหญ่ก่อนน่าจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ
" พระราชาตรัสตอบว่า "ท่านอย่าวิตกในข้ที่ว่ามโหสธยังอายุ น้อยเลย มโหสธเป็นผู้มี ปัญญาเฉียบแหลมยิ่งกว่าผู้ใหญ่
จำนวนมาก เราจะเลี้ยงมโหสธในฐานะราชบุตรของเรา ท่านอย่ากังวล ไปเลย" มโหสธจึงได้เริ่มรับราชการกับ
พระเจ้าวิเทหราชนับตั้งแต่นั้นมา

(มีต่อ)
**************************************************