หน้าร้านดีดี บอร์ด

ศาสนา & วัดวาอาราม & สวนสาธารณะ & พิพิธภัณฑ์ => ศาลเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: pong ที่ กันยายน 26, 2011, 11:09:01 PM



หัวข้อ: ประวัติย่อพระนามจามเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: pong ที่ กันยายน 26, 2011, 11:09:01 PM
ประวัติย่อพระนามจามเทวี

ประวัติย่อพระนามจามเทวี

กำเนิดหญิง “วี”        
         พระนางจามเทวีตอนกำเนิดเป็นเด็กหญิง “วี” ที่ท่านพระฤๅษีสุเทพได้บันทึกไว้ในสุพรรณบัตร เราสุเทพฤๅษีแห่งอุจฉุตบรรพต
 (เขาไร่อ้อยหรือดอยสุเทพ) ณ ระมิงค์นคร ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า “วี” มาให้มวล  นิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้

            กุมารน้อยนี้ พญาปักษีพามาจากบุรพนคร เราจึงช่วยชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต (ดอยคำ)
ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาปักษีได้ปล่อยกุมารีตกลงมาท่ามกลางต้นปทุมสระหลวง เราจึงได้สักการะอธิษฐาน
กุมารีนี้ จึงลอยขึ้นบน “วี” วันนี้ก็เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ปีมะโรง พุทธศก ๑๑๗๖
 (ขึ้น ๑๕ ค่ำ)  เดือน ๕ วันพฤหัสบดี ปีมะโรง ตรงกับเดือน ๗ เหนือ ออก ๑๕ ค่ำ ปีสีฯ

ดวงชะตาเจ้าแม่แปลกประหลาด
ตามเกณฑ์ดวงชะตาเจ้าแม่จามเทวีแปลกประหลาด  จึงได้ให้นักพยากรณ์ลองผูกดวงดู  ตามทัศนของ

พระฤๅษีกล่าวว่า เกณฑ์เลขชะตาเจ็ดตัว วันกำเนิดก็ ๕ ตัว เดือนก็ ๕ ปีก็ ๕ ยังขึ้น ๑๕ ค่ำอีกด้วย กุมารนี้ประมาณชันษาได้ ๓ เดือนแล้ว
ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลนามตามกำเนิดเพื่อเป็นสิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า
“กุมารีนี้เป็นบุตรตรีของชาวบ้านหนองดู่ ในบุรพนคร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นหริภุญชัย) เราจึงมอบให้    
กากะวานรและบริวารเลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต และได้สอนศิลปวิทยาให้จวนจบชนมายุได้ ๑๓ ปี
เป็นเวลาที่กุมารีนี้จักได้มาช่วยอุปถัมภ์กำราบ อริราชศัตรู ณ แคว้นเขมรัฐ อันกุมารีนี้ยังจักเป็นคู่เสน่หาของเจ้าชาย เขมรัฐ
ซึ่งเดินหลงทางพนาเวศน์ไปยังเราเมื่อ ๔ ปีโน้น จึงได้ทำพิธีประกอบนายายนต์ให้กุมารี
พร้อมทั้งกากะวานร และบริวารรวม ๓๕ ตัว เดินทางโดยลำน้ำระมิงค์ถึงกรุงละโว้ฯ

            ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี เกิดที่บ้านหนองดู่ ไปโตดังที่ละโว้ (ลพบุรี) ได้มาครองเมืองลำพูนตามคำเชิญของพระฤๅษี
จึงได้เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองลำพูน พระนางจามเทวี เป็นบุตรีของท่านเศรษฐี นามว่า อินตา มารดาชื่อว่า... เป็นชาวเม็ง (มอญ)
ราษฎรบ้านหนองดู่ อำเภอซาง จังหวัดลำพูน พราะนางจามเทวีเกิดเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
พุทธศักราช ๑๑๗๖ ในระหว่างอายุได้ประมาณ ๓ เดือน กำลังนอนเบาะ ได้มีนกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาจวบเอาพระนางจามเทวี
ขณะที่พ่อแม่ไปธุระ  นกใหญ่บินเข้าจวบขึ้นบนท้องฟ้า พระนางจามเทวีได้ร่วงหล่นลงมายังกลางสระบัวหลวง
ร่างของพระนางก็ค้างอยู่บนกองบัวเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระฤๅษีเกิดไปพบเข้าจึงนึกในใจว่า ทารกนี้มีเหตุการณ์อย่างประหลาด
ชะลอยจักไมใช่ทารกธรรมดาสามัญ เห็นทีจะมีบุญญาธิการสูงส่ง จึงได้สัตย์อธิษฐานว่า ผิว่าทารกหญิงคนนี้ ประกอบด้วยบุญญาธิการ
จะได้เป็นใหญ่ในเบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้ “วี” ของเรานี้รองรับร่างของทารกไว้ได้โดยมิต้องร่วงหล่นเถิด
และก็น่าอัศจรรย์ยิ่งนักเมื่อเราเอา “วี”  (วี แปลว่า พัด) ยื่นไปช้อนร่างทารกน้อยวัย ๓ เดือน
ก็สามารถอยู่บน “วี” อย่างอัศจรรย์ จึงเลยให้นามทารกนี้ว่า “หญิงวี”  

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระฤๅษีได้จัดส่งพระนางไปตามลำน้ำปิงพร้อมกับมีวานร จำนวน ๓๕ ตัว ติดตามไปด้วย
เมื่อพระนางไปถึงท่าฉนวนหน้าวัด เชิงท่าตลาด ลพบุรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี นาวายนต์ก็ลอยวนไม่เคลื่อนที่ไปทางใดจนกว่าทั้งรุ่งแจ้ง
ประชาพลเมืองได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้รับแจ้งแก่เสนาบดี
และก็ได้รับทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว   ดังกล่าว กษัตริย์ทั้งสองแห่งกรุงละโว้ ก็ทรงตื้นตันด้วยความเวทนาในธิดายิ่งนัก เสด็จมารับเอาไปเป็นบุตรธิดาอยู่ได้ ๓ วัน ก็จัดให้มีงานฉลอง และเจิมพระขวัญพระราชธิดา แต่งตั้งให้เป็นพระเอกราชธิดา แห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัตรว่า  “ เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยะวงศ์ บรมราชขัติยะนารี รัตนกัญญาละวะบุรี ราเมศวร ”  
เป็นราชทายาทแห่งนครละโว้ ในวาระดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐
เมื่อสิ้นประกระแสพระราชดำรัสก็ได้ยินเสียงถวายพระพรพระธิดากันเซ็งแซ่ พระนางจามเทวีมีพระราชดำรัสตอบว่า ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิอันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่า ข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกท่างที่จะหาความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อกระแสพระราชดำรัสจบลง เสียงปี่พากษ์มโหรีก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวประชาก็ถวายพระพร ขอให้เจ้าหญิงจงทรงพระเจริญ ๆ ๆ แล้วข้าวตอกดอกไม้ของหอมก็ถูกโปรยทั่วบริเวณ พระพิรุณก็โปรยปรายความชุ่มเย็นจากฟากฟ้าเป็นละอองทั่วกรุงละโว้ เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง

เมื่อพระนางจามเทวี อายุได้ ๒๐ ปี ในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ ขาวกรุงละโว้ (ลพบุรี) ก็มีประราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีหมั้นระหว่างเจ้าชายรามราชกับเจ้าหญิงจามเทวี ในวันรับหมั้นก็มีมหรสพสมโภชน์เอิกเกริก บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายก็ส่งเครื่องบรรณาการกันอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง

อันความงามของเจ้าหญิงเลื่องลือไปทุกแคว้น จนกระทั่งเจ้าชายผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงโกสัมภี (พม่า) เกิดลุ่มหลงไม่เป็นอันกินอันนอน จนพระราชบิดาต้องแต่งเครื่องบรรณาการให้อำมาตย์เชิญพระราชสาสน์มาสู่ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ในปี ๑๑๙๖ ขณะนั้นเจ้าหญิงทรงรับหมั้นแล้ว จึงได้ปฏิเสธการรับหมั้น ฝ่ายทางกรุงโกสัมภีหาว่าละโว้บ่ายเบี่ยงก็แค้นอยู่ในใจ

พม่าเสียใจความรักไม่สมหวัง
ในราวเดือนอ้าย  ปลายปีพุทธศักราช ๑๑๙๖  พม่าเมืองโกสัมภีก็ยกทัพใหญ่ เพียบพร้อมด้วยพระประยูรญาติ
ทางกาลิงครัฐก็รวมกำลังเป็นกษัตริย์เข้าบุกละโว้

ทางนครรามบุรี (ทัพกษัตริย์) คือ แม่ทัพล้วนแต่เป็นราชโอรส ราชนัตตา หรือเจ้าผู้ครองทั้งนั้น ทุกกองจะมีกองหน้า กองหลวง กองหลัง
เต็มอัตราศึก แสนยานุภาพของ   โกสัมภีและกาลิงครัฐก็พุ่งเข้าบดขยี้นครรามบุรีอย่างบ้าคลั่ง น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ นครรามบุรีรีบแจ้งข่าวศึกใหญ่มายังกรุงละโว้ กษัตริย์ละโว้ทรงทราบก็ตกพระทัยนั่งอึ้งมิอาจตรัสสิ่งใดได้ ทั่วท้องพระโรงเงียบกริบ

พระนางจามเทวีอาสาออกศึกสงครามกับพม่า
ในการออกสงครามกับพม่าครั้งนี้ ทางฝ่ายบิดามารดาและพระนางต่างปรึกษาหารือกันอยู่เป็นเวลานาน

กว่าจะตกลงกันได้ ในที่สุดก็ตกลงมอบหน้าที่ให้พระนางจามเทวีเป็นแม่ทัพออกศึกสงครามกับพม่าเพราะพระฤๅษีสั่งว่า พระราชธิดานี้จะมาช่วยบำราบอริราชศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาก็แสดงว่า พระราชธิดานี้มีบุญญาธิการแก่กล้านักเห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ จึงตกลงอนุญาตและถามเจ้าหญิงว่าจะเดินทัพเมื่อไร เจ้าหญิงทูลว่าจะไปวันนี้ เจ้ากรุงละโว้ก็ให้อำมาตย์ไปอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเข้ามายังพระอารามหลวงโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อพิธีเจิมเฉลิมชัยเจ้าหญิง ฝ่ายเจ้าหญิงทรงรับสั่งให้ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพ และให้พี่เลี้ยงทั้งสองจัดทัพหน้าหญิง ๕๐๐ คน ชาย ๑๐๐๐ คน กับกากะวานรและวานรที่ติดตามมาตั้งแต่ระมิงค์นครทั้ง ๓๕ ตัว ที่เกิดใหญ่ไม่เอาให้รีบจัดก่อน เมื่อทำพิธีทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พระนางตรัสว่าเพื่อปิตุภูมิเราจะขอทำหน้าที่และยอดสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย และศึกครั้งนี้หนักนักเป็นศึกกษัตริย์อันมิควรจะพบกันบ่อยครั้งนัก บรรดาแม่ทัพของเขาล้วนแต่เป็นโอรสและราชนัดดาของนครต่างๆ ทั้งโกสัมภี และกาลิงครัฐ พระนางประกาศว่าถ้าผู้ใดมิเต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้เราจะมิเอาโทษทัณฑ์ประการใด จะปลดปล่อยทันที เมื่อรับสั่งจบบรรดาเหล่าทหารก็โห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนของปฏิญาณว่าจะขอตายเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทั้งนั้น ทันใดนั้นท้องฟ้าก็แจ่มใสเห็นศุภนิมิตรอันดี กษัตริย์กรุงละโว้ก็ทรงมอบพระแสงอาญาสิทธิ์แก่เจ้าหญิง ทันใดนั้นธงชัยประจำตัวแม่ทัพก็สบัดชายให้เห็นพื้นธงสีฟ้าริมขาว ส่วนกลางของธงซึ่งมีรูปมงกุฎราชกุมารีลอยอยู่เหนือดวงอาทิตย์โบก สบัดอยู่ไปมาติดตามแม่ทัพอย่างกระชั้นชิด เมื่อเดินทัพมาใกล้นครเขื่อนขัณฑ์ (กำแพงเพชร) เจ้าหญิงจึงทรงอักษรไปยังเจ้ารามฯ ว่า หญิงมาช่วยแล้วขอให้เจ้าพี่ทิ้งเมืองเสียเถิด ให้อพยพชาวเมืองลงมาก่อน แล้วเจ้าพี่รับทำหน้าที่นำทัพมาพ้นเทือกเขาขุนกาฬบรรพต ในระหว่างที่มีการสู้รบกันอยู่นั้นพลเมืองต่างก็พากันหนีออกจากเมือง เมื่อทัพโกสัมภียึดนครได้ก็กลายเป็นนครร้างเสียแล้ว  เพราะราษฎรอพยพกันหมดสิ้น ต่อมาแม่ทัพทั้งสองก็ได้สู้รบกันอีก จนต่างฝ่ายมีอาหารการกินร่อยหรอลงไป เจ้าหญิงก็ทรงพระอักษรขึ้น ๑ ฉบับ ส่งให้โอรสแห่งโกสัมภีว่าอันสงครามครั้งนี้เหตุก็เกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตของทวยราษฎร์ทั้งหลายจักต้องมาล้มตายกัน จะเป็นที่ครหานินทาแก่หมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่งกายทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัวให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเถิด จอมทัพแห่งโกสัมภีเมื่อรับพระราชสาสน์จากเจ้าหญิงจึงได้ทรงทราบว่าสตรีที่ตนรักเป็นจอมโยธาจะต้องมาประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการและก็แว่วว่าเจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษี คาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะต้องมาเป็นแม่ทัพ ต่อจากนั้นอีกสองวันทั้งสองฝ่ายก็จัดแม่ทัพออกสู้กันตัวต่อตัว ล่วงไปได้ ๖ วันในการต่อสู้ขุนศึกโกสัมภีตาย ๒ คน ละโว้ตาย ๑ คน วันที่ ๗ จอมทัพโกสัมภีจะต้องต่อสู้กันตัวต่อตัว เจ้าหญิงก็นึกถึงบิดา พระฤๅษีสุเทพ เสี่ยงสัจจะอธิษฐานในบุญกรรม และแล้ววันรุ่งขึ้นก็ย่างมาถึง วันนี้เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ กลองศึกถูกรัวเร้าจังหวะ ขณะที่ทางโกสัมภีตกตลึงอยู่นี้ใยเจ้าพี่มัวยืนเหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใด หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกันอย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราเลย เจ้าชายได้สติจึงเอ่ยขึ้นว่า การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือว่าละโว้นั้นสิ้นแล้วหรือซึ่งผู้ชายชาตรี เจ้าหญิงตรัสว่า อันละโว้จะสิ้นซึ่งชายชาตรีนั้นหามิได้ แต่ว่าหม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อเสด็จแม่เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันสตรีก็มีใจ บุรุษก็มีใจ ผิว์ว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด ถ้าเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉัน เมื่อต่างฝ่ายต่างโต้คารมกันไปมานานพอสมควรก็ใกล้เที่ยงวัน เจ้าชายโกสัมภีก็ตรัสขอเชิญเจ้าหญิงพักเหนื่อยกันก่อนเถิดเพราะบ่ายอ่อนเราจึงมาต่อสู้กันใหม่ เจ้าหญิงก็ทรงเห็นด้วย

            ครั้งแล้วเวลานั้นก็มาถึง ทั้งสองเจ้าก็เริ่มประดาบกันใหม่ภายใต้ร่มโพธิ์อันร่มรื่น เจ้าหญิงทรงยืนเป็นสง่า ทั้งคู่ต้องมาประหัตประหารกันด้วยหน้าที่ เมื่อปี่ชะวาครางขึ้น ทั้งคู่ก็เริ่มเข้าประหารกันอีก เมื่อดาบทั้งสี่เริ่มกระทบกันจากช้าเป็นเร็ว ต่างฝ่ายผลัดกันรับและรุกเป็นเวลานาน คนดูต่างใจหายใจคว่ำ ครั้งแล้วเจ้าชายก็เสียเชิงถูกพระแสงดาบเจ้าหญิงเฉี่ยวเข้าที่พระกรก็ตกใจชักม้าเบนห่าง กากะวานรเห็นดังนั้นก็พุ่งเข้าคว้าธงไชย จอมทัพโกสัมภีเข้าหักยับด้วยกำลัง ทหารทั้งปวงก็อลหม่านทั้งไพร่และนายแตกตื่นกันชุลมุน กองทัพโกสัมภีก็แตกร่นไม่เป็นขบวน ต่างชิงหนี้เอาตัวรอด ทหารละโว้ตามตีไม่ลดละจึงต้องหนีทั้งกลางวันและกลางคืน เจ้าชายแห่งโกสัมภีแค้นพระทัยเสียรู้ เสียพระทัย เสียทัพยับเยิน จะอยู่ไปใยให้ขายหน้าและสุดที่ผู้ใดจะช่วยทัน ด้วยทิฏฐิมานะแห่งขัติยะก็รงเอาพระแสงดาบเชือดเฉือนพระศอของตนเองจนสิ้นชีพตักษัย ทันใดก็มีเสียงร้องต่อๆ กันว่า เจ้าชายโกสัมภีสิ้นพระชนม์ฯ ขอให้ทหารทุกคนยอมอ่อนน้อมต่อละโว้เถิด มีเสียงบอกต่อๆ กันจนฟังให้อึงคนึงไปหมด เจ้าหญิงจึงประกาศให้ทัพปลอดอาวุธทางโกสัมภี แล้วเจ้าหญิงก็ยุติการสู้รบและให้ทั้งสองฝ่ายตรวจความเสียหาย แล้วเจ้าหญิงทรงพระบัญชาให้ทหารรีบไปเอาปรอทยังนครสุวรรณบรรพต และให้ต่อพระศอเจ้าชายโกสัมภีแล้วตรอกปรอทบรรจุพระศพเจ้าชายโกสัมภีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ทหารนำศพกลับเมืองโกสัมภี เป็นอันว่าสงครามรักสะเทือนใจของประชาชนก็ยุติฯ

เสด็จสงครามเจ้าจามเทวีก็อภิเษกสมรส
เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายสงบเรียบร้อย พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีก็ทรงดำริว่า สมควรจัดให้ราชธิดากับเจ้าชายรามทรงอภิเษกสมรส ทางเจ้ากรุงละโว้ทรงให้เขียนประกาศแจ้งไปยังหัวเมืองต่างๆ อย่าให้เมืองใดขาดได้ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีตรงกับวันข้างขึ้นเดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระนางจามเทวีกับเจ้าชายรามฯ ก็ได้อภิเษกสมรสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มีพระราชพิธีมอบราชสมบัติ อัญเชิญเจ้ารามฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองนครกรุงละโว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญชาวละโว้ต่อไป เหตุการณ์พระนางจามเทวีจะเป็นประการใดโปรดอ่านตำนานเมืองหริภุญชัย ลำพูนต่อไป

-------------------------------------