หน้าร้านดีดี บอร์ด

ศาสนา & วัดวาอาราม & สวนสาธารณะ & พิพิธภัณฑ์ => ศาสนา-วัดวาอาราม-พระอารามหลวง => ข้อความที่เริ่มโดย: okay ที่ ธันวาคม 13, 2009, 11:51:53 PM



หัวข้อ: ประวัติ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
เริ่มหัวข้อโดย: okay ที่ ธันวาคม 13, 2009, 11:51:53 PM
ประวัติ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
(http://img18.imageshack.us/img18/364/30472893.jpg)  (http://img229.imageshack.us/img229/9752/41099944.jpg)
ประวัติ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

  วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณดึกดำบรรพ์มาก เท่า ๆ กับองค์พระธาตุพนม ในตำนานพระธาตุพนมนั้น พระโบราณาจารย์ท่านจดหมายเหตุไว้ว่า พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกโดยพญาทั้ง ๕ หัวเมือง พระมหากัสสปะเป็นประธานพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ นำพระอุรังคธาตุจากชมพูทวีปที่กรุงราชคฤห์เพื่อจำพรรษาและทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัยดังนี้
 
        ถ้าถือตามนี้ก็คำนวณได้ว่า สร้างพระธาตุพนมยุคแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานแล้วราวไม่เกิน ๒ เดือน เพราะทำปฐมสังคายนา เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๓ เดือน ( เดือน ๙ เพ็ญ ) สร้างครั้งแรกได้เพียงชั้นเดียว
       ครั้นต่อมาตำนานบอกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จนิพพานแล้ว ๗ ปี ๗ เดือน ( ที่จริง ๖ เดือน ) ถึงเดือน ๑๒ เพ็ญ วันพุธพญาอินทร์สั่งให้วิสสุกัมมเทวบุตรลงมาสลักลวดลายพระเจดีย์ให้ละเอียดวิจิตรต่าง ๆ ซึ่งปรากฏในตอนต้นแล้ว และในคืนวันนั้นพญาอินทร์เป็นประธานแห่งเทพทั้งหลายทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ชนชั้นจาตุมมหาราชขึ้นไป ได้มาชุมนุมกันเฉลิมฉลองตลอดคืนยังรุ่ง ก่อนกลับและเลิกได้มอบให้เทวดา ๔,๐๐๖ พระองค์รวมทั้งหัวหน้าและเทวบุตรผู้มีฤทธิ์อีก ๓ ตน ให้คอยดูแลปกปักรักษาพระบรมธาตุ เหตุนั้นพระธาตุพนมจึงปรากฏว่าศักดิ์สิทธิ์กว่าพระเจดีย์ทั้งหลายอื่นเป็นพิเศษ เรื่องนี้ผู้ใกล้ชิดและผู้เคยไปกราบไหว้บูชาย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจตนเอง
  
     วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
 
             โบราณจึงย่อคัมภีร์อุรังคนิทานให้สั้นแล้วใส่ศักราชเข้าไปว่า พระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานไปแล้วได้ ๗ ปี ปลาย ๗ เดือน เดือน ๑๒ วันพุธ เกณฑ์ฤกษ์ชื่อว่า “กัตติกา” มีพระมหากัสสปะเถรเจ้าพร้อมด้วยอรหันตา ๕๐๐ ได้นำพระอุรังคธาตุมาบรรจุไว้ในอุโมงค์ มีพญาทั้ง ๕ ได้สร้างไว้ต้อนรับ ดังนี้ คนต่อมาก็เลยถือเอาว่า สร้าง พ.ศ. ๘ ที่จริงใน พ.ศ. ๘ ( ล่วงแล้ว ๗ ปี ๖ เดือนเศษ ) ที่กล่าวนี้เป็นปีฉลองใหญ่เมื่อสลักลวดลายเสร็จต่างหาก พระธาตุได้สร้างมาก่อนนั้นแล้ว

           พระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๕๐๐ ปี พญาทั้ง ๕ ที่สร้างพระธาตุพนมยุคแรกได้จุติมาเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ ได้เดินทางมาขอความอุปถัมภ์บูรณะพระเจดีย์ธาตุพนมที่เรียกในสมัยนั้นว่า “อุโมงค์ภูกำพร้า” กับพญาสุมิตธรรมวงศา หรือสุมินทราชกษัตริย์องค์ครองเมืองมรุกขนคร ที่ย้ายจากศรีโคตบูร

           พระเจ้าสุมิตธรรมวงศา ได้ให้พละเอวะอำมาตย์ คุมประชาชนมาถากถางปรับปรุงบริเวณภูกำพร้า ต่อเติมพระเจดีย์ขึ้นเป็นชั้นที่ ๒ ก่อกำแพงรอบทั้ง ๔ ด้าน ย้ายพระอุรังคธาตุจากพื้นล่างขึ้นตั้งไว้ที่บน ตรงปากระฆังคว่ำชั้นบน อันเป็นปากระฆังเดี๋ยวนี้ มียอดและระฆังคงไม่สูงเท่าไหร่ สร้างวิหารให้พระเถระทั้ง ๕ อาศัย ได้แก่ เนินพระอรหันต์ทั้ง ๓ ด้าน คือ เหนือได้แก่หอพระนอน ทิศใต้ได้แก่ เนินหินแลงริมคูรอบพระธาตุข้างกุฏิศิลาภิรัตน์รังสฤษฏิ์ ด้านทิศตะวันตก ได้แก่ วิหารเล็กบนเนินพระอรหันต์ที่ปลูกโพธิ์พุทธคยา ปรับปรุงเป็นลานโพธิ์ และสร้างมหารัตนศาลาไว้หลัง สร้างวิหารและพระพุทธสัมโพธิญาณไว้ด้านหน้า ออกประตูหลังพระธาตุไปท่านจะพบเห็นทันที
            เมื่อเราถือตำนานที่กล่าวมานี้เป็นหลัก ก็จับใจความได้ว่า ในสมัยพญาสุมิตธรรมวงศา เมือมรุกขนคร พุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ปี ได้มีพระภิกษุเถระมาอยู่ภูกำพร้าวัดพระธาตุพนมเป็นครั้งแรก และทางบ้านเมืองอุปถัมภ์ ได้สร้างกุฏิวิหารให้อยู่ ๓ หลัง ๓ ด้านขององค์พระธาตุพนมเป็นครั้งแรก แต่พญาทั้ง ๕ ได้สร้างอุโมงค์ไว้ จะถือว่าเริ่มเป็นวัดแต่นั้นมาก็อาจจะถือได้ แต่ไม่มีเรื่องติดต่อมา
           พญาสุมิตธรรมวงศาเป็นองค์แรกที่สละผู้คน ๗ บ้าน เป็นคน ๓,๐๐๐ คน ให้มาตั้งบ้านโดยรอบพระธาตุในวัดก็คงมีพระภิกษุสามเณรอยู่เฝ้ารักษา แต่ตำนานมิได้กล่าวถึง
           การสร้างวัดพระธาตุพนม สร้างคร่อมองค์พระธาตุ คือ มีวัดทั้ง ๔ ด้าน เรียกหัวหน้าคณะทั้ง ๔ ว่าเจ้าด้านทั้ง ๔ อย่างเจดีย์สำคัญทางลานนาและล้านช้าง คือ พระธาตุลำพูน พระเจดีย์หลวง มักมีวัดตั้งรอบอยู่ทั้ง ๔ ทิศ
           ผู้สร้างครั้งแรกคงเป็นพญาสุมิตธรรมวงศา เชื้อพระวงศ์กษัตริย์ศรีโคตบูรย้ายมาตั้งเป็นเมืองมรุกขนคร เพื่อให้วัดดูแลอุปัฏฐากพระบรมธาตุ และควบคุมข้าโอกาสทั้งหลาย เรื่องวัดพระธาตุพนมยุคแรก ได้เงียบหายไป พร้อมกับการร้างของเมืองมรุกขนคร ประชาชนอพยพขึ้นไปอยู่ทางเหนือ แต่เมืองล่าหนองคายไปจนถึงหนองเทวดาที่เรียกว่า ห้วยเก้าเลี้ยวเก้าคดที่ตั้งอยู่เหนือนครเวียงจันทน์เดี๋ยวนี้

           ครั้นต่อมาไทยล้านช้างได้โยกย้ายจากเหนือมาสู่ใต้ตามลำแม่น้ำโขง คือ ตั้งอยู่เมืองเซ่า หรือชวา ได้แก่ หลวงพระบางเดี๋ยวนี้ พระองค์ได้ธิดาพญาอินทปัตนคร ( กัมพูชา ) มาเป็นบาทปริจาริกา พระเจ้าตาคือพ่อของนาง ได้ถวายตำนานพระธาตุพนมแด่พญาโพธิสาล พระองค์ได้ทราบเรื่องราวพระบรมธาตุดีแล้ว ก็ให้ความอุปถัมภ์วัดพระธาตุพนมเป็นอันมาด ได้สร้างวิหารหลวงมีระเบียงโดยรอบ หลังคามุงด้วยตะกั่ว ( ดีบุก ) ทั้งสิ้น ได้สละคนเป็นข้าโอกาสเพิ่มเติมที่ขาดตกบกพร่อง สละดินถวายครอบ ๒ ฝั่งแม่น้ำโขง ให้พวกอยู่ในเขตดินแดนส่งส่วยข้าวเปลือกข้าวสารประจำปี บำรุงพระธาตุและได้สละมหาดเล็ก ๒ นาย คือ ข้าซะเองและพันเฮือนหิน ให้เป็นข้าพระธาตุ นำส่งดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะมาบูชาพระธาตุในวันมหาปวารณาออกพรรษาทุกๆ ปี สมัยพระไชยเชษฐาธิราช โอรสพระเจ้าโพธิสาล ย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่เวียงจันทน์ ก็ได้เสด็จมาไว้พระธาตุ ตรวจตราวัดวาอยู่เสมอจนสิ้นรัชกาล แต่จดหมายเหตุไม่ได้บันทึกชื่อสมภารไว้เลย
 
           ต่อมา พ.ศ. ๒๑๕๗ ปรากฏในศิลาจารึกว่า “พญานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูรหลวง” ได้แก่เมืองนครเก่าอยู่ใต้เมืองท่าแขกฝั่งประเทศลาวเดี๋ยวนี้ ได้มาบูรณะพระธาตุ ก่อกำแพงชั้น ๒ รอบทั้ง ๔ ด้าน ถือปูนสะทายตินพระธาตุ พระภิกษุผู้รักษาวัดก็คงมีอยู่แต่ไม่ปรากฏชื่อ
           ต่อมา พ.ศ. ๒๒๓๓ - ๔๕ เป็นเวลาที่สมเด็จพระสังฆราชาสัทธัมมโชตนญาณวิเศษ ( ตามจารึกทองคำที่ค้นได้เวลาพระธาตุล้ม) แต่เรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก” ท่านองค์นี้เป็นพระมหาเถระที่มีพลังจิตสูง เป็นที่เคารพรักของประชาชน ตั้งแต่ราชสกุลลงมาถึงคนสามัญธรรมดาทั่วแผ่นดิน จึงมีชื่อเกิดขึ้นเองเช่นนั้น
          เวลานั้น ในนครเวียงจันทร์ การเมืองปั่นป่วนสับสน ท่านจึงได้นำครัวราษฎรประมาณ ๓,๐๐๐ มาตั้งปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอยู่ราว ๑๐ กว่าปีจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ คือท่านต่อตั้งแต่ปากระฆังขึ้นไปจนสุดยอด ดังนั้นพระธาตุพนมจึงสูง ๔๓ เมตร ( ดูรูปถ่ายพระธาตุพนมองค์เดิม )
          เจ้าราชครูองค์นี้ได้นำมหัคฆภัณฑ์มีค่าเข้าบรรจุมากที่สุด เพราะมีญาติโยมและคนเชื่อถือมาก มีเจ้าศรัทธาผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยเหลือสร้างผอบสำริดบรรจุของมีค่า มีพระเจดีย์ศิลาและผอบทองคำบรรจุพระบรมอุรังคธาตุและพระสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทองคำหนัก ๔,๗ ก.ก. และหนัก ๑๘ ก.ก. เป็นต้น บริจาคร่วมกุศลกับทานเป็นอันมากต่อมาก
       เมื่อบูรณะพระธาตุพนมเสร็จแล้ว ท่านได้พาครอบครัวญาติโยมอพยพลงไปตั้งหลักอยู่ภาคใต้ ตั้งเมืองจำปาศักดิ์ขึ้นเป็นนครหลวงปกครองชาวล้านช้างภาคใต้เป็นครั้งแรก

เข้าใจว่าวัดพระธาตุพนม ท่านคงตั้งลูกศิษย์เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไว้ดูแลรักษาแทนท่าน และปกครองข้าโอกาสทั้งหลาย แต่ตำนานมิได้ระบุไว้ว่าตั้งผู้ใด
       พ.ศ. ๒๓๔๙ - ๕๖ เป็นสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตกอยู่ในรัชกาลที่ ๒ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์มีศรัทธาได้เสด็จมาบูรณะพระธาตุและวัดพระธาตุพนม ร่วมกับพระบรมราชาสุตตา เจาเมืองนครพนม และพระจันทสุริยวงศา ( กิ่ง ) เจ้าเมืองมุกดาหารปรับปรุงบริเวณและสร้างหอพระ ทำถนนปูอิฐตั้งแต่วัดถึงฝั่งโขง กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตรเศษ ทำฉัตรยกฉัตรใหม่ในปีสุดท้าย
         ในระยะนี้ ที่วัดพระธาตุพนมก็ต้องมีพระผู้ใหญ่เป็นหลักวัดอยู่ ปรากฏตามจารึกของพระจันทสุริยวงศา เจ้าเมืองมุกดาหาร ผู้มาบูรณะโรงอุโบสถว่า ได้ให้ข้าราชการผู้ใหญ่มาปัคคหะ คือ กราบไหว้เจ้าสังฆราชาวัดพระธาตุพนมขอโอกาสปฏิสังขรณ์ ฯลฯ บันทึกมิได้ระบุว่า สังฆราชา ( เจ้าอาวาส เจ้าคณะสงฆ์ ) มีชื่อว่าอย่างไร
         เหตุการณ์ได้ผ่านจากนั้นมานาน จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ พระธาตุพนมชำรุดมาก พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีองค์แรก ได้มาเป็นหัวหน้าบูรณะซ่อมแซมชำระสะสางเหงื่อไคลพระบรมธาตุให้สะอาดสดใส เพื่อมทองคำประดับยอด และประดับแก้วกระจกที่ปากระฆัง ปรากฏวาพระอุปัชฌาย์ทาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านองค์นี้มีฝีมือช่างปั้นอยู่บ้าง ยังมีเหลือให้เห็นอยู่หลายชิ้น นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร

          เป็นพระอารามหลวงชั้นไหน ?
             วัดพระธาตุพนม ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิด “วรมหาวิหาร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓
ปูชนีย์ที่สำคัญ ประวัติการสร้างและสมโภช
           พระธาตุพนม เป็นปูชนียะสำคัญยิ่งของวัดและชาติด้วย มีคนรู้จักทั่วประเทศ การสร้างก็สร้างมาแต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้วไม่ถึง ๒ เดือน มีการฉลองใหญ่เมื่อเดือน ๑๒ เพ็ญ วันพุธ พุทธปรินิพพานแล้วได้ ๗ ปีกับ ๖ เดือน และบูรณะใหม่มาแล้วอย่างน้อย ๓ ครั้ง จนถึงได้พังลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลานี้ได้บูรณะองค์พระธาตุพนมเสร็จแล้ว ยังแต่บริเวณอาคารอื่นโดยรอบ มีการสมโภชใหญ่ประจำปีมาแต่โบราณ คือ แต่เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จนถึง แรม ๑ ค่ำ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เป็นงานชั้นเอกใหญ่ยิ่งมโหฬารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พระนามและประวัติพระประธานในพระอุโบสถและพระวิหาร

           พระประธานในพระวิหาร พระนามว่า “พระพุทธมารวิชัยศาสดา” เข้าใจว่าสร้างแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาลราช นครหลวงพระบาง เสด็จมาสร้างพระวิหารหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๓ - ๒๑๐๒ เมื่อสร้างวิหารใหญ่เข้าใจว่าได้หล่อพระประทานไว้ประจำเลย เพราะสืบแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกว่า เห็นประจำอยู่ในพระวิหารหอพระแก้วตั้งแต่ก่อนเกิด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ เจ้าอาวาสได้ให้ช่างสร้างนาค ๗ เศียรแบบขอมประดับ ดูสวยงามมาก แต่เวลานี้พระธาตุล้มทับพังแล้ว คงเหลือแต่พระประทานไม่เป็นอันตราย เวลานี้ทางศิลปากรไดลงรักปิดทองและกั้นฉัตร ๕ ชั้นไว้กลางแจ้งบนฐานพระวิหาร หลังคาและผนังพระวิหาร กรมศิลปากรรื้อจะสร้างใหม่
        พระประทานในพระอุโบสถ เป็นพระปางมารวิชัยเหมือนกัน แต่มีขนาดย่อมกว่าพระประทานในพระวิหาร มีพระนามว่า “พระองค์แสนศาสดา” เป็นพระประจำอุโบสถมานานแล้ว ที่ฐานมีจารึกเลขศักราชไว้ดังนี้ “ ศักราชได้ ๘๖๔ ตัว “ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๓๕ ถึงปีมะแมนี้ได้ ๔๘๗ ปีแล้ว ที่ฐานมีห่วงสำหรับหาม เข้าใจว่าแต่โบราณคงเอาออกแห่เวลาตรุษสงกรานต์ พระพักตร์นูน จมูกโด่งงาม พระองค์เกลี้ยงเกลา ไม่ทราบประวัติว่าหล่อที่ไหน ใครสร้าง ดูพระพุทธลักษณะและฝีมือช่างเป็นนักปราชญ์ชั้นสูงสร้าง
         ส่วนโรงอุโบสถนั้น สร้างมานานแล้ว ต่อมา พ.ศ. ๒๓๔๙ - ๕๖ คราวเจ้าผู้ครองเวียงจันทน์ลงมาบูรณะวัดพระธาตุพนม ปรากฏตามจารึกว่า พระจันทสุริยวงศา เมืองมุกดาหาร ได้ปฏิสังขรณ์สร้างอุโบสถไว้เป็นพุทธบูชาเป็นส่วนของท่านโดยเฉพาะด้วย ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพระครูศิลาภิรัต เจ้าอาวาส พร้อมด้วยหลวงพิทักษ์พนมเขต ( ท้าวสีกะทูมจันทรสาขา ) นายอำเภอธาตุพนม ลูกหลานเหลนของพระจันทสุริยวงศา ได้รื้อโรงอุโบสถเก่าที่ชำรุดสร้างใหม่ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ พระเทพรัตนโมลี ขอทุนฉลอง ๒๕๐๐ มาบูรณะโรงอุโบสถใหม่ คือ รื้อหลังคาแปลงเป็น ๓ ชั้น เพิ่มฝาผนังขึ้น ขยายหน้าโบสถ์ออกอีก ๗ เมตร ทำช่องประตูหน้าต่างใหม่ทุกห้อง ประตูหน้า ๓ ช่อ เป็นซุ้มกรอบประตูหน้าต่างประดับลวดลายดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้



******************************************************************************