ไทยควรเอาอย่างเยอรมนีที่ประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กรุงเทพฯ, 31 พฤษภาคม 2554- ประเทศไทยควรบอกลาแผนนิวเคลียร์ตามรอยประเทศเยอรมนีที่เมื่อวานนี้ได้ประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสิ้น 8 แห่ง อันเนื่องมาจากความกังวลต่อความปลอดภัยของนิวเคลียร์ กรีนพีซยินดีต่อการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากเป็นก้าวสำคัญในการยุติยุคนิวเคลียร์ของทั่วโลก
“ประเทศไทยควรละทิ้งแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยทันที การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนีครั้งนี้ นับเป็นการสิ้นสุดพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ และเช่นเดียวกับเหตุการณ์อุบัติภัยฟูกุชิมาที่ได้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนให้แก่ประชาคมโลก พลังงานนิวเคลียร์ไม่เคยมีความปลอดภัยหรือแม้แต่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ซ้ำร้าย กลับสร้างความเสี่ยงที่อันตรายต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายต่างตื่นตัวกับอันตรายจากพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มอาเซียนบางประเทศยังคงต้องการให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในประเทศ ในประเทศไทย รัฐบาลได้ยืดเวลาการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป 3 ปีตามข้อเสนอของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ International Atomic Energy Agency (IAEA) ที่ระบุว่าพลังงานนิวเคลียร์ยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนไทย
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยล้มแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงถ่านหินที่เป็นอันตราย และเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
“เยอรมนีได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เข้มแข็งโดยการโบกมือลาพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าประเทศใดก็ตามสามารถกำจัดพลังงานที่ล้าสมัย สกปรก และมีความเสี่ยงออกไปได้ แล้วแทนที่ด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานหมุนเวียนแห่งศตวรรษที่ 21 ประเทศญี่ปุ่นและสวตเซอร์แลนด์ต่างก็ถอยห่างจากพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น ประเทศอื่นๆก็ควรจะละทิ้งความเสี่ยงไว้เบื้องหลัง แล้วนำพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดมาใช้” จริยา กล่าวเสริม
“การผูกติดพลังงานไว้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์นั้น ถือเป็นการเดิมพันอนาคตของโลกเรา นอกจากนี้ยังเป็นการสูญเสียเวลาและเงินอีกด้วย การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในโลกของเราเกิดขึ้นได้จริง และประเทศเยอรมนีได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการสนับสนุนจากสาธารณชนและเจตจำนงค์ทางการเมืองสามารถทำให้อนาคตพลังงานหมุนเวียนเป็นไปได้จริง” จริยา กล่าวสรุป