ศาลเจ้าพ่อเสือ
ตะนาวศรี กทม.
ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ในบบริเวณที่ตัดกับถนนอุนากรรณ ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
บนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ เป็นศาลเจ้าชาวจีนแต้จิ๋ว (สายลัทธิเต๋า) ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย คนจีนเรียกกันว่า
"ตั่วเล่าเอี้ย" เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ ก็เรียก), รูปเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม
เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและจีนเป็นอย่างมาก
ศาลเจ้าพ่อเสือ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปีที่ก่อสร้างตรงกับ พ.ศ. 2377
มีความเกี่ยวเนื่องกับวัดมหรรณพาราม เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงโปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้พระยาโชฎีราชเศรษฐีย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะอาคารสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาลคือ “เสียนเทียนซั่งตี้” หรือที่คนไทยเรียกว่า
“เจ้าพ่อเสือ” นั่นเอง เรื่องราวตำนานของเจ้าพ่อเสือที่ชาวบ้านย่านนี้เล่าขานนั้น เชื่อมโยงกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพารา (วัดมหรรณพ์)
ด้วยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวไทยและชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านาน
"เสือ" เป็นสัตว์ที่คนจีนเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชมาก สามารถปราบผีหรือสิ่งเลวร้ายของชีวิตได้ หากบ้านใครตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่ง
หรือจุดที่ถือกันว่าจะมีวิญญาณเลวร้ายพุ่งเข้าบ้าน จะนิยมเอาเสือคาบดาบไปแขวนไว้ที่หน้าบ้านเพื่อขจัดสิ่งเลวร้าย เคราะห์ร้าย
ที่จะมากล้ำกรายชีวิตของเราให้พ้นไปหรือว่าบรรเทาลงได้
เชื่อกันว่าทุก ๆ ปีขาลที่เวียนมาถึงจะเป็นปีที่มีธุรกิจล้มละลายกันมากเป็นประวัติการณ์ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ พากันปิดกิจการกันมาก
ภาระการค้ามีอุปสรรคมาก อย่างไรก็ตามคัมภีร์โหราศาสตร์จีน (โป๊ยยี่สี่เถี่ยวเก็ง)บันทึกไว้ว่า "ในปีขาล (เสือ) นี้บุคคลที่อยู่ภายใ
ต้ความคุ้มครองของเสือแล้ว กลับจะเป็นปีที่มีความก้าวหน้าอย่างมากมายในขณะที่คนอื่นต้องพบกับชะตากรรมที่ถูกผลักดันให้ตกต่ำ
ไม่ได้รับการเอาใจใส่ในช่วงเวลาอันวุ่นวายของปีเสือนี้" ดังนั้นผู้เขียน (พ. สุวรรณ) ขอแนะนำว่า ท่านผู้อ่านที่มีเกณฑ์ชะตา
ไม่ค่อยดีหรือผู้อ่านที่ต้องการความมั่นใจ ท่านควรหาโอกาสไปไหว้เจ้าที่ ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ซึ่งชาวจีนเรียกกันว่า "ตั่วเล่าเอี้ย"
ให้ได้ในปีขาลหรือทุก ๆ ปีขาลที่เวียนมาถึง เป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อเสริมมงคลให้แก่ตัวเองและครอบครัว เมื่อท่านได้ทำตามที่ว่า
ท่านลองสังเกตุดูท่านจะรู้สึกว่า ชีวิตของท่านจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ (ซึ่งผู้เขียนเคยประสบกับตนเองมาแล้ว)
ปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่เคยขัดขวางท่านกลับคลี่คลายและลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ครอบครัวชาวจีนที่ยังไม่มีลูก ต้องการอยากมีมากๆก็จะไปขอลูกที่ "ตั่วเล่าเอี๊ย" หรือศาลเจ้าพ่อเสือในคืนวันที่ 15 ค่ำ เดือน 1
(ตามปฏิทินจีน) ชาวจีนเรียกพิธีนี้ว่า "จับโหงวแม้" (แปลว่า "คืนวันที่ ๑๕ ค่ำ") โดยนำ "ทึ้งถะ" หรือเจดีย์ที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้
คนที่อยากมีลูกแล้วไปขอ ท่านแนะนำว่า ต้องให้ฝ่ายชายไปไหว้แล้วขโมย "ทึ้งไซ" หรือสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลกลับมาบูชาที่บ้าน
เมื่อได้ลูกสมปรารถนาแล้วปีหน้าหรือปีถัดไปต้องเอาสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้ใช้คืนสองเท่า หรือสองตัวนั่นเอง เผื่อให้ครอบครัว
อื่นที่ยังไม่มีลูกจะได้ไปขโมยบ้าง
ปัจจุบันเพื่อความสะดวก ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ได้อำนวยความสะดวก โดยตั้งจุดขายสิงโตน้ำตาล
และเจดีย์น้ำตาล เพื่อลดความแออัดและความชุลมุนวุ่นวาย
ทุกวันนี้มีคนไปไหว้กันมาก เดินแทบไม่ได้แถมยังถูกรมด้วยควันธูปที่คลุ้งกระจายจนแสบตา หลายคนน้ำตานองหน้ากว่า
จะเข้าถึงองค์เจ้าพ่อเพื่อให้อาแป๊ะหรือเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าเอาเนื้อหมูสด (ท่านสามารถหาซื้อได้จากแม่ค้ารอบๆศาลเจ้า)
ที่ถวายถูที่ปากท่านแล้วพูดว่า "เฮงๆ" นั่นแหละ…ขอให้เฮง หรือโชคดี สมปรารถนาตลอดปีและตลอดไป ที่สำคัญอย่าลืมเช่า "ฮู้"
หรือยันต์เจ้าพ่อเสือที่ศาลเจ้ามาติดไว้ที่บ้านหรือสำนักงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่รอดปลอดภัย ส่วนท่านที่เกิดปีขาล ปีมะเส็ง
ปีวอกและปีกุน ขอแนะนำว่าในทุกๆปีขาลที่เวียนมาถึงควรไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าพ่อเสือให้ได้ โดยเฉพาะคนปีขาลและปีวอก
ต้องขอเน้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่มีอิทธิพลท่านมากจริงๆ และเพื่อความมั่นใจและได้ผลอย่างแน่นอน ควรไหว้
"ไช้ซิ้งเอี๊ย" (เทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือเทพเจ้าเงินตรา) ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ชาวจีนที่มีอายุมากๆ ตลอดจนซินแสทั้งหลาย
ต่างร่ำรือถึงความศักสิทธิ์ว่า ไช้ซิ้งเอี๊ย องค์ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ใครดวงไม่ดีแต่อยากรุ่งหรือ
ใครที่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ท่านจะช่วยดังนั้นชาวจีนจึงนิยมไปไหว้กันมาก
ปัจจุบันนิยมไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเพื่อ "เสริมอำนาจบารมี" โดยใช้ ธูป 18 ดอก และเทียนแดงคู่ เป็นเครื่องสักการะ
วิธีสักการะ ไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือ
จะต้องซื้อเครื่องเซ่นซึ่งประกอบด้วย หมูสามชั้น ไข่สด และข้าวเหนียวหวาน อีกทั้งผู้คนก็นิยมมาเสี่ยงเซียมซี
ในศาลเจ้านี้ที่ขึ้นชื่อว่าทายแม่นเหมือนตาเห็นอีกด้วย
นอกจากจะเป็นที่เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีความงามด้านสถาปัตยกรรม
และ การตกแต่งภายในอีกด้วย โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่ประดับอยู่ภายในศาลเจ้านั้น บางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปีเลยทีเดียว
เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปสักการะคือ 06.00 - 17.00 น. ทุกวัน
ควรแต่งกายสุภาพ และเพื่อความสะดวก ควรเดินทางด้วยรถประจำทาง
หรือรถแท็กซี่ เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด
****************************************