http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538722260&Ntype=5ประวัติ หลวงพ่อเงิน 5.
มูลเหตุแห่งการสละโลกีย์วิสัย ของหลวงพ่อเงิน
การออกบวช สละบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ การงานไปเป็นภิกษุนั้น ที่จริงก็เรียกว่า สละโลกียวิสัยนั่นเอง แต่ว่าถ้าการออกบวชนั้นเป็นแต่เพียงตั้งใจบวชตามประเพณีบวชทดแทนคุณบิดามารดา บวชเพื่อเอาบุญกุศล บวชเพื่อเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย หรือบนแล้วบวช บวชหน้าไฟ ก็สุดแล้วแต่ ก็เรียกว่าเป็นการบวชเพียงชั่วคราว ไม่ได้ตั้งใจบวชอุทิศชีวิต เพื่อจะสละโลกีย์วิสัยโดยแท้จริง แม้แต่การบวชนานจนได้เป็นพระมหาเปรียญ มีสมณศักดิ์เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะก็ตาม ก็ยังไม่เรียกว่า บวชอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง เพราะยังอาจจะลาสึกออกมาครองเรือนอีกเมื่อไรก็ได้ ด้วยน้ำใจยังไม่มั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่พอ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนทั้งหลายทั่วไป ซึ่งเป็นบุรุษชาย ธรรมดาไม่ว่าใครร้อยละเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเช่นนี้
แต่สำหรับหลวงพ่อเงินนั้น เป็นกรณีพิเศษ สำหรับวิสามัญบุรุษ อันนานๆ จะมีสักคนหนึ่ง คือ ตั้งแต่บวชมา ก็ไม่เคยคิดแม้สักขณะจิตเดียวว่าจะสึกออกไปเป็นฆราวาสอีก ตั้งใจตั้งแต่แรกทีเดียวว่าจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตั้งใจจะอุทิศชีวิตอยู่ในเพศภิกษุ ตั้งใจถวายชีวิตต่อพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเหมาะก็ดี จึงได้บอกแก่โยมบิดามารดาว่า
"ทรัพย์สมบัติทางโลกที่โยมยกให้ทั้งหมดนั้น ฉันขอสละหมดทุกสิ่งทุกประการ จะขอบวชต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะขออุทิศชีวิตเพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ผู้เกิดมาอยู่ในความมืดและความทุกข์ยาก ขอให้โยมจงยินดีอนุโมทนาด้วยเถิด"
นี้เป็นคำกล่าวเมื่อบวชได้พรรษาที่ 5 หลังจากลับจากเดินทางออกธุดงค์ กลับมาถึงวัดแล้ว ความจริงใจนั้น ตั้งใจจะบวชอุทิศชีวิตมาตั้งแต่แรกบวช เพียงแต่ยังไม่ได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณออกไปให้โยมทราบเท่านั้น เมื่อได้ใช้เวลาตรึกตรองจนแน่ใจแล้ว จึงได้บอกให้โยมทราบเป็นคนแรก โยมทั้งสองก็ยกมือขึ้นสาธุอนุโมทนาด้วย เพราะก็รู้อยู่ตั้งแต่หลวงพ่อเงิน เกิดมาแล้วว่าลูกชายคนนี้จะได้บวชเป็นสมภาพเจ้าวัดแน่ ลูกชายก็ยังมีอยู่อีกถึง 6 คนทีเป็นฆราวาส จึงไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเมื่อได้ยินพระลูกชายพูดเช่นนี้
ในพรรษาที่ 5 นั้น ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามมาคือ หลวงพ่อฮวยเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ซึ่งชราภาพมากแล้วเข้าใจว่าอายุกว่า 80 ปี เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ เรื่อยมาหลวงพ่อเงินก็ได้พยายามปรนนิบัติอยู่ ไม่ทอดทิ้งด้วยความกตัญญูกตเวที
ต่อมาทางการพระสงฆ์ ก็ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อเงิน เป็นรองเจ้าอาวาส ทำการแทนเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์วัดดอนยายหอมต่อมา
หลวงพ่อเงิน พูดปรารภว่า
"ไม่อยากมีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เลย แต่อยากจะทำงานพระพุทธศาสนาอย่างอิสระด้วยใจสมัคร เพื่อสร้างคุณงามความดี การทำงานให้พระศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่อะไร"
เมื่อชาวบ้านกลัวว่าหลวงพ่อเงินไม่รับตำแหน่งหน้าที่ กลัวว่าทางการคณะสงฆ์จะแต่งตั้งพระภิกษุจากที่อื่นมาเป็นแทน จึงได้เข้าชื่อกันร้องเรียนไปทางเจ้าคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
วันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดจึงได้เดินทางไปที่วัดดอนยายหอม วันนั้น ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2459 หลวงพ่อเงินอายุได้26 พรรษาที่6 ท่านเจ้าคุณพระพุทธรักขิต ได้ประชุมสงฆ์และราษฎร เพื่อเลือกตั้งรองเจ้าอาวาส ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้งพระภิกษุเงิน จันทสุวัณโณ เป็นรองเจ้าอาวาส พระพุทธรักขิตจึงเรียกพระภิกษุเงินให้มายืนต่อหน้าที่ประชุมนั้น แล้วสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พระพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า
"ได้ทราบมานานแล้วว่า คุณเงิน เป็นพระภิกษุหนุ่มที่เข้มแข็งมีศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีปฏิภาณในการสั่งสอนประชาชน วางตนเป็นที่เคารพนับถือ ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้ได้มาเห็นตัว เห็นลักษณะอันมีสง่าน่ายำเกรงด้วยแล้ว ก็สามารถจะทำนายได้ว่า พระภิกษุเงินผู้นี้ จะเป็นพระเถระผู้ทรงคุณความสามารถในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปผู้หนึ่ง ประชาชนจะมีความเลื่อมใสศรัทธาไปทุกสารทิศ จึงขอเตือนว่า คุณจะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำให้เขาไปสู่แสงสว่าง อันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณก็บอกอยู่ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาจิต ขอให้คุณจงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระพุทธศาสนยิ่ง ๆขึ้นไป"