ยึดผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์
หลวงพ่อเงิน บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุครบบวช เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 จนกระทั่ง พ.ศ.2519 รวมเวลา 66 ปี อุทิศชีวิตอยู่ในเพศพรหมจรรย์มาโดยตลอดอย่างบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธิ์ใจไม่เคยเกคลื่อนไหวว่าจะสึก โดยกระทำให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลย แม้แต่สิกขาบทเดียว ไม่เคยพูดถึงเรื่องลาสิกขากับใครเลย มีแต่ลั่นวาจาว่าจะบวชตลอดชีวิต ไม่เคยคิดแม้แต่สักแวบหนึ่งในใจว่าจะลาสิกขา ตั้งใจมุ่งมั่น แน่วแน่แต่จะฝากชีวิตไว้ในผ้าเหลือง ขอยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์ คำนี้เป็นคำโบราณ พูดกันมานานนับร้อยนับพันปี "ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็น ธงชัยพระอรหันต์" เหมือนทหารยึดเอาธงไชยเฉลิมพลเป็นที่พึ่งที่ระลึกยามเข้าสงคราม การบวชเป็นพระภิกษุนี้ ก็ต้องทำสงครามกับกิเลสตัณหา ความรู้สึกฝ่ายต่ำอยู่ตลอดเวลา คือเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ คนโบราณเข้าใจดี เวลาทอดกฐินเขาจึงทำธง เขียนรูปจระเข้ รูปคลื่น รูปนางมัจฉา 4 ผืนไปปักไว้หน้าวัด
1.ธงรูปจระเข้ คือเรื่องกิน จระเข้นั้นเห็นแก่กิน ตายเพราะกิน เตือนใจพระว่าอย่าเห็นแก่กินเหมือนจระเข้เข้า อย่าเอาแต่กินกับนอน
2.ธงรูปคลื่นนั้น ก็คือ อารมณ์โกรธหรือโทสะเหมือนคลื่นในทะเลพัดเรือจม การบวชเป็นพระนั้น ท่านว่าเป็น "ผู้ชายพายเรือ" อยู่ในทะเลและมหาสมุทร ให้ระวังคลื่นลมพัดเรือจม เรือแตก จะไปไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน จะไม่ได้มรรคผล นิพพานอะไรเลย
3.ธงรูปนางมัจฉานั้น หมายถึงราคะ หรือสตรีเพศ เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ พระภิกษุบวชอยู่ไม่ไหว ร้อนผ้าเหลืองเป็นไฟ ก็เพราะสตรี จึงให้สำรวมระวังอย่าเข้าใกล้ อย่าเผลอปล่อยกายปล่อยใจ อย่าพ่ายแพ้แก่อิตถีเพศ
4.รูปวังน้ำวน หมายถึง วัฏสงสารที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะกิเลสตัณหา อุปาทาน
ชาวบ้านสอนพระไม่ได้ เขาจึงทำธง 4 ผืนไปปักหน้าวัดเวลาทอดกฐิน เป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เขาปักธงไว้สอนพระ
แต่สำหรับหลวงพ่อเงิน ดูเหมือนธงทั้ง 4 ธงนี้ ไม่มีความหมายอะไรแก่ท่านเลยก็ว่าได้
เพราะท่านยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์อยู่ในชีวิตจิตใจ ถึงแม้ว่าชาตินี้จะมีบุญวาสนาไม่สำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดา พระสกิทาคามี พระอานาคามี หรือพระอรหันต์แต่ก็มีผ้าเหลืองเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นธงชัยพระอรหันต์ที่มุ่งหมายจะบำเพ็ญสมณธรรมให้บรรลุในที่สุด ถ้าไม่บรรลุในชาตินี้ก็ขอบรรลุในชาติต่อ ๆ ไป
หลวงพ่อเงินเป็นพระมหานิกาย โดยเฉพาะก็คือ เป็นพระสงฆ์ที่เชื่อถือลัทธิพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นความเชื่อถือสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยแล้ว หลักฐานก็คือ หนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละ ที่พระเจ้าลิไทยธรรมราชาแต่งขึ้น ก็แสดงความเชื่อถือเรื่องลัทธิพระโพธิสัตว์อย่างชัดแจ้งที่สุด
ลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ที่ย่อที่สุดก็คือเชื่อว่า ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายในชาตินี้ แต่ยังมีชีวิตสืบเนื่องต่อไปหลังความตาย จะต้องไปเกิดใหม่ในชาติหน้าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ตัดกิเลสสิ้นขาดแล้ว แต่พระอรหันต์ที่ดับขันธ์ไปสู่นิพพานก็ใช่ว่าจะสิ้นสูญ ยังคงมีชีวิตสถิตอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วนั้นเอง เป็นชีวิตอมตะไม่รู้จักตายเป็นชีวิตนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรผัน ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ยังคงมี "ชีวิต" อยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร
ชีวิตของคนผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น จะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต้องตายเกิดตายเกิดอยู่เช่นนี้ตลอดไปไม่รู้จักสิ้นสุด ต้องทนทุกข์เวทนา เพราะการเกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่รู้จักสิ้นเวรกรรมลงได้เลย พระพุทธองค์เห็นทุกข์เห็นภัยในวัฏสงสารเช่นนี้ จึงแสวงหาโมกขธรรม แสวงหาพระนิพพาน ความหลุดพ้นโลก เป็นโลกุตระ (เหนือโลก พ้นโลก) ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงสถิตอยู่ในพระนิพพานนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ยังมีพระพุทธานุภาพอยู่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อประดุจพลังงาน ไฟฟ้ามีอยู่คู่โลกธาตุ
ชีวิตอมตะ หรือชีวิตนิรันดรนั้นมีอยู่ทุกศาสนา ศาสนาฮินดูตายแล้วก็ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาคริสต์ ตายแล้วก็ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า ศาสนาอิสลาม ตายแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็รับไปอยู่ในสวรรค์ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายร่างกายแตกดับ ถ้าหากว่าพระนิพพานสูญสิ้นเชื้อ ไม่เหลือเลย คนก็กลัวนิพพาน
แต่ชาวพุทธที่นับถือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์สอนไว้มากมายนักหนา ในเรื่องชาดกต่างๆ 500 ชาติ ว่าพระองค์ก็เคยเกิดเสวยพระชาติเป็นสัตว์น้อย ๆ ตั้งแต่นกกระจาบ นกคุ่ม จนกระทั่งถึงสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง พญาฉัททันต์ จนกระทั่งเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเสนาอำมาตย์ เป็นพราหมณ์ เป็นฤาษี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเวสสันดรชาติสุดท้าย ก่อนจะอุบัติเกิดมาเป็นพระพุทธองค์ในชาตินี้ นี่คือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ อันเป็นพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ มากกว่า 2000 ปีแล้ว
หลวงพ่อเงินท่านบวชในนิกายสยามวงศ์ หรือนิกายพระโพธิสัตว์นี้ เหมือนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้นิพนธ์เรื่องปฐมสมโพธิกถาไว้ ในหนังสือเรื่องนี้ ก็สอนเรื่องพระโพธิสัตว์ไว้ตลอดเรื่อง ทรงเรียกพระนิพพานว่า
"พระอมตะมหานิพพาน"
แปลว่า พระนิพพานอันเป็นอมตะอย่างยิ่ง คือ พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่ในพระอมตะมหานิพพาน ท่านไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านเป็นอมตะ ยังอยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร
ขอยืนยันว่า ปฏิปทาของหลวงพ่อก็ดี จริยาวัตรของหลวงพ่อก็ดี คำสอนของหลวงพ่อก็ดี หลวงพ่อเชื่อถือเรื่องพระโพธิสัตว์ หลวงพ่อเชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย และชาติสุดท้ายท่านจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลอีกแสนไกล
โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายพระพร
เมื่อ พ.ศ.2507 หลวงพ่อได้รับนิมนต์เข้าไปสวดพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จแล้วก็ออกจากวัง มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า
"หลวงพ่อเงินใช่ไหม?"
"ใช่"
"หยุดก่อน"
"อาตมาทำผิดอะไร?"
"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"
"ไม่ดีหรอก อาตมากระเร่อกะร่าเข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบ อาตมาไม่เห็นว่าจะนิมนต์"
"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"
"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"
"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"
หลวงพ่อสงสารนายตำรวจผู้นั้น จึงยอมกลับไปเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า
"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียกว่า "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย
นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ได้พบแล้วสนทนาวิสาสะกัน.
พระเจ้าอยู่หัวคือพระบรมโพธิสัตว์
หลวงพ่อเงิน คือพระโพธิสัตว์
อุบัติมาบำเพ็ญพระทศบารมี
........................................................................................