-"นะคงคา"ยันต์ประจำตัวหลวงปู่นาค
การที่พระเกจิอาจารย์ ท่านใดสามารถดำลงไปทำวัตถุมงคลใต้น้ำได้นานๆ แบบนี้
ก็แสดงว่าพระเกจิอาจารย์ท่านนั้นสำเร็จวิชากสิณที่สามารถแปลงธาตุน้ำให้เป็นช่องว่างมีอากาศหายใจได้
การดำน้ำเพื่อลงอักขระวัตถุมงคลใต้น้ำของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
พระครูรัตนรังษี (หลวงปู่พุ่ม) วัดบางโคล่นอก เขตยานนาวา กทม. หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม
ส่วนพระเกจิอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเคยดำน้ำจารตะกรุด คือ หลวงปู่แย้ม วัดตะเคียน จ.นนทบุรี
เหตุที่เกจิดำน้ำจารยันต์ มีคติความเชื่อว่า จะเพิ่มความเข้มขลังให้วัตถุมงคล เพราะระหว่างดำน้ำจิตจะนิ่ง
รวมเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกัน การจารต้องแม่นยำ จึงบังเกิดเป็นอักขระเลขยันต์
เอกลักษณ์ของพระปิดตาห้วยจระเข้ ที่สำคัญ คือ ต้องมีการลงเหล็กจารทุกองค์ด้วย ในการลงเหล็กจารนั้น
มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคท่านนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้ว ไปลงเหล็กจารที่ท่าน้ำข้างๆ วัด
โดยท่านจะนำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จแล้วก็จะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง
โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ
ถ้าพระปิดตาองค์ไหนลงจารแล้วไม่ลอยน้ำขึ้นมา แสดงว่าพระปิดตาองค์นั้นไม่มีพลังพุทธคุณ
อันอาจจะเกิดอักขระวิบัติ จากการจารอักขระก็ได้
อักขระที่ท่านใช้คือ "นะคงคา" เป็นตัวหลัก เพราะหลวงปู่นาคสำเร็จ อาโปกสิน
วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกจึงหนักไปทางพลังเย็นเร้นเข้มขลังอย่างเอกอุ
ยันต์ “นะ คงคา” ถือเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่นาค หรือยันต์ประจำตัวหลวงปู่นาค หากพิจารณาพระปิดตาแต่ละองค์
จะจารยันต์ไม่เหมือนกัน แม้หลวงปู่นาคจะจารยันต์ด้วยมือทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่า พระปิดตาทุกองค์จะมียันต์เหมือนกันหมด
โดยเฉาะยันต์ นะคงคา จะมีเฉพาะบางองค์เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะท่านจารด้วยมือแต่ละองค์ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ต้องไม่เหมือนกันเป็นเรื่องธรรมดา
การลงยันต์ตัวนี้ ต้องบริกรรมพระคาถามหาคงคาทิพย์ อันประกอบด้วยธาตุน้ำเป็นตัวประสาน เย็นไม่ร้อนเลย
โดยตัวหน้าของคาถาจะเป็นคาถาพระเจ้า ๕ ระองค์ (นะ โม พุท ธา ยะ) แบ่งออกเป็น ๕ บท คือ
๑.นะ คัง คา ยัง พิณ ธุ ชา ตัง จงบังเกิดเป็น นะ
๒. โม คัง คา ยัง พิณ ธุ ชา ตัง จงบังเกิดเป็น โม
๓. พุท คัง คา ยัง พิณ ธุ ชา ตัง จงบังเกิดเป็น พุท
๔. ธา คัง คา ยัง พิณ ธุ ชา ตัง จงบังเกิดเป็น ธา และ
๕.ยะ คัง คา ยัง พิณ ธุ ชา ตัง จงบังเกิดเป็น ยะ
พุทธคุณของคาถาบทนี้ แก้ร้อนรุ่มกลุ้มจิต ร้อนวิชาได้วิเศษนักแล
เดิมทีเป็นพระคาถาที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าใช้ทำน้ำมนต์ประสานตัว
พุทธคุณของยันต์ตัวนี้เด่นด้านคุ้มกันป้องกันภัย รวมทั้งป้องกันคุณไสย
ในโอกาสการตั้งวัดอายุครบ ๑๑๑ ปี คณะกรรมการวัดจึงจัดสร้างพระปิดตาเนื้อเมฆพัด รุ่นขุมสมบัติ ๑๑๑ ปี
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สร้างพิมพ์สะดือจุ่น ซึ่งมีทั้งหมด ๓ พิมพ์ คือ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก
ทั้งนี้เพื่อหาปัจจัยในการก่อสร้างอาคารสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ยันต์ที่เขียนลงบนพระปิดตา โดยมีการจารยันต์ตามตำรับหลวงปู่นาคด้วยมือในบาตรน้ำมนต์ทุกองค์
เพื่อเพิ่มพูนความรู้สำหรับผู้สนใจเรื่องอักขระเลขยันต์ จึงขอถอดยันต์บนพระปิดตาขนาดบูชามาอธิบาย
ยันตัวแรก ที่อยากเขียนถึง คือ ยันต์กลางกระหม่อมองค์พระ คือ ยันต์ นะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน นะ ๑๐๘ ส่วนจะเป็นนะตัวใดนั้น
ต้องใช้ตำราเปรียบเทียบ กรณีตัว นะ ที่ปรากฏบนพระปิดตาหลวงปู่นาค เป็น นะ ที่แทนพระพุทธเจ้าองค์แรก
ในจำนวนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ที่เรียกว่า “นะ โม พุท ธา ยะ”
หรือ แม่ธาตุใหญ่ ที่บริกรรมว่า “นะ กา โร กุก กุ สัน โท จงบังเกิดเป็นตัว นะ”
พุทธคุณของ นะ ตัวนี้ เด่นทางคุ้มครองมหาอำนาจ
ในขณะที่พระเกจิอาจารย์บางท่านใช้สูตรคาถาพระเจ้า ๑๖ พระองค์ ในการบริกรรมเรียกสูตรระหว่างเขียนก็มี
โดยบริกรรมว่า “นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ กะ ออ กอ นอ อะ นะ อะ กะ อัง” มีพุทธคุณดีทุกด้าน ใช้ได้ทุกทาง
แต่จะเด่นทางด้านคุ้มครอง และมงคลต่างๆ
ยันต์ที่อุระ (ท้อง) คือ ยันต์ นะ ตัวเดียวกับที่ลงกลางกระหม่อม แต่มีการเพิ่มส่วนที่มีหางลักษณะเป็นอุณาโลม ๓ ชั้น
ซึ่งเป็นอุณาโลมที่หมายถึงหัวใจพระไตรปิฎก โดยภาวนาต่อว่า “มะ อะ อุ”
ส่วนเส้นตรงเหนือจากอุณาโลม ๓ ชั้น ให้ภาวนาว่า “สัต ถุ โน พุท โธ”
บางครั้งอาจจะพบ ๕ ชั้น ภาวนาว่า “นะ ม พุท ธา ยะ”
ในขณะที่อุณาโลม ๙ ชั้น ภาวนาว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ”
ยันต์ที่มือขวาขององค์พระ คือ ยันต์ เฑาะว์ ยันต์ตัวนี้ใช้ลงกระหม่อม หรือจารองค์พระก็ได้
โดยระหว่างจารยันต์ตัวนี้
ให้บริกรรมว่า “เฑาะว์ รัน โต ศี ละ สมาธิ เฑาะว์ รัน ตัน ติ นะ มะ ถุ โน
เฑาะว์ รัน โต นะ กัม มัถ ฐา นัง เฑาะว์ พุท นะ มา มิ หัง เฑาะว์ อุ ณา โล มา สัม ปะ นะ ชา ยะ เต ” เฑาะว์ตัวนี้มีพุทธคุณเด่นทางอยู่คง
ยันต์ที่มือซ้ายขององค์พระ คือ ยันต์ นะ หน้าทอง หรือเรียกว่า นะฉัพพัณณรังษี ฉบับวัดประดู่โรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา บริกรรมว่า
“ปถมังพินธุกังชาตัง นะกาโรสุวัณโณเจวะ ทุติยังทัณฑะเมวะจะ โมกะโรมะณีโชตะกัง ตะติยังเภทะกัญเจวะ
พุทกาโรสังขะเมวะจะ จัคตุถังอังกุสัมภะวัง ธากาโรสุริยังเอวะ ปัญจะมังสิระสังชาตัง ยะกาโรมุกขะเมวะจะ นะกาโรโหติสะมภะโว”
นะ หน้าทองตัวนี้ มีพุทธคุณเด่นทางเสน่ห์ อิทธิเจ หรือ ใครเห็นใครรัก
ยันต์ด้านหลังองค์พระ (บริเวณเศียรต่อกับลำคอ) คือ ยันต์ เฑาะว์ แต่มีการเพิ่มยันต์ไว้ใต้ฐานตัวเฑาะว์
คือ ธาตุ ๔ คือ นะ มะ พะ ทะ พุทธคุณเด่นด้านเหนียวอยู่คง
ทั้งนี้ต้องภาวนาควงกันเป็น ๔ คาบ ว่า คือ
๑. นะ มะ พะ ทะ
๒.มะ พะ ทะ นะ
๓. พะ ทะ นะ มะ
๔.ทะ นะ มะ พะ
ยันต์ด้านหลังองค์พระ (บริเวณกลางหลัง) คือ ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ แต่เขียนร้อยเป็นตัวเดียวกัน ถ้าให้เป็นมหาอุด
จะเขียนเป็นยันต์ปิด (เขียนปิดหัวปิดหาง) ภาษาคนเขียนยันต์ เรียกว่า การเขียนยันต์ตลก เพื่อความสวยงาม โดยบริการว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ยังมียันต์ นะ อีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณก้นองค์พระทั้ง ๒ ข้างด้านหลัง นะ ตัวนี้ คือ นะ ทรหด
โดยระหว่างเขียนบริกรรมคาถาหัวใจพระกัสสะปะ มีพุทธคุณเด่นทางทรหดอดทน
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำความเข้มขลังของ "เนื้อเมฆพัด" ซึ่งเป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุตามตำราของไทยโบราณ
เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์ มีฤทธานุภาพในตัวเอง รวมกับอักขระเลขยันต์ โดยมีการจารยันต์ตามตำรับหลวงปู่นาคด้วยมือ
ในบาตรน้ำมนต์ทุกองค์แล้ว พระปิดตาเนื้อเมฆพัด รุ่นขุมสมบัติ ๑๑๑ ปี ถือว่าดีทุกด้าน
พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญได้ที่วัดห้วยจระเข้ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
หรือสอบถามได้ที่สำนักงานเลขานุการ วัดห้วยจระเข้ โทร.๐-๓๔๒๕-๙๔๖๘, ๐-๓๔๒๕-๙๙๔๖๘, ๐๘-๕๐๗๖-๐๙๗๔
ที่มา - คม ชัด ลึก
------------------------------