ชาคาร์โมมายล์รสนุ่มลิ้นกลิ่นหอมกรุ่นทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จิบแล้วหลับสบาย ด้วยพลังเร้นลับของสารสกัดคาร์โมมายล์ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า
ใครสักคนพูดถึงชาคาร์โมมายล์ให้ฟัง คุ้นหูว่าเคยผ่านตาชื่อสารสกัดตัวนี้มาจากไหนสักแห่ง ใช่แล้ว! เคยเห็นตามฉลากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณนั่นเอง แล้วเหตุไฉนถึงกลายมาเป็นชาไปได้
นั่นยังไม่ประหลาดเมื่อเทียบกับข้าวเหนียวคาร์โมมายล์ เรียกชื่อคาร์โมมายล์ อาจไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่ามันคือ ดอกเดซี หลายคนคงร้องอ๋อโดยพลัน ดอกคาร์โมมายล์มีกลิ่นหอมคล้ายผลแอ๊ปเปิ้ล ชื่อของมันเลยแปลได้ความว่า "แอ๊ปเปิ้ลบนดิน"
ข้อมูลจากฐานข้อมูล MedinePlus จากห้องสมุดยาแห่งสหรัฐระบุรายชื่อโรค และอาการมากมายกว่า 100 ชนิดที่ภูมิปัญญาชาวบ้านนำคาร์โมมายล์มาใช้รักษา แต่ยังไม่มีงานวิจัยทดสอบมาสนับสนุนอย่างจริงจัง เอาเป็นว่า ตามตำราแพทย์แผนโบราณเชื่อว่า คาร์โมมายล์รักษาอาการหลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัด ท้องร่วงในเด็ก ผื่น ปวดลำไส้ ผิวหนังอักเสบ ช่วยให้นอนหลับสบาย รักษาเชื้อในช่องคลอด สมานแผล และอีกมากมายจิปาถะ
ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจสารสกัดคาร์โมมายล์มาเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้กับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ กลายเป็นข้าวเหนียวคาร์โมมายล์ อาหารรับกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรง
ข้าวเหนียวคาร์โมมายล์ เป็นส่วนหนึ่งของข้าวนึ่งอบแห้งเสริมโภชนาการธรรมชาติภายใต้โครงงานวิจัย "ส่งเสริมคุณค่าทางโภชนาการของข้าวนึ่งอบแห้งและการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร" ต่อเนื่องจากงานวิจัยข้าวนึ่งเสริมธาตุเหล็กเมื่อปี 2548
คราวนี้ปรับมาใช้กับสารอาหารจากธรรมชาติอย่างสารต้านอนุมูลอิสระในดอกคาร์โมมายล์ ตามมาด้วยแคลเซียมในนม และธาตุเหล็กในน้ำลูกหม่อน ทำให้เกิดเป็นข้าวเหนียวนม และข้าวเหนียวลูกหม่อนอีกด้วย
นายเรวัตร พงษ์พิสุทธินันท์ นักวิจัยใช้เทคโนโลยีการแทรกซึมภายใต้สุญญากาศทำให้สารสกัดจากดอกคาร์โมมายล์แทรกซึมเข้าไปในเมล็ดข้าวเหนียวได้ในปริมาณที่มากพอ
เดิมที นักวิจัยประจำโครงการฯ ทดลองเคลือบธาตุเหล็กลงบนเมล็ดข้าวเหนียว แต่ผลที่ได้ไม่เป็นที่พอใจ ธาตุอาหารติดเมล็ดข้าวน้อย พอทิ้งไว้นานวันธาตุเหล็กมีปริมาณลดน้อยลง จึงเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีการแทรกซึมภายใต้สุญญากาศเคลือบด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียมหรือไอโอดีน และพบว่าได้ผลดีกว่า
กระบวนการทำข้าวนึ่งเสริมแร่ธาตุใช้ข้าวเปลือกนึ่งสุก มาอบให้แห้งแล้วสีเอาเปลือกข้าวออก แล้วมาแช่สารละลายที่ต้องการ เสร็จแล้วนำไปปรับสภาวะให้อยู่ในสภาวะสุญญากาศ ในหม้อแรงดันสุญญากาศที่พัฒนาขึ้นเองขนาด 100 กิโลกรัม หม้อแรงดันจะดึงน้ำที่อยู่ในเมล็ดข้าวออกมา ทำให้เมล็ดข้าวมีรูพรุน และในช่วงปรับให้อยู่ในสภาวะปกติ สารละลายก็จะแทรกเข้าไปอยู่ในเมล็ดข้าวแทน แล้วจึงนำมาอบแห้งอีกครั้ง
ผลที่ได้ นอกจากข้าวเหนียวมีเมล็ดสวยไม่แตกร้าว ยังพบว่า เมื่อนำข้าวที่ได้ไปทดสอบด้านการวิเคราะห์ทางแร่ธาตุในห้องปฏิบัติการ ผลทดสอบทางโภชนาการเป็นไป ตามที่ตั้งเป้าไว้คือ มีคุณค่าทางโภชนาการ 40% ของความต้องการแร่ธาตุในแต่ละวันของมนุษย์ ความคงตัวของแร่ธาตุในเมล็ดดีมาก จากการเก็บไว้ 1 ปี แร่ธาตุก็ยังคงอยู่ คุณค่าทางอาหารไม่มีลดลง
หลังประสบความสำเร็จ ทีมวิจัยนำเทคนิคเดียวกันไปประยุกต์ใช้กับสารอาหารจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทั้งแคลเซียมในนมสด จนมาถึงคิวของสารต้านอนุมูลอิสระในคาร์โมมายล์ และธาตุเหล็กในน้ำลูกหม่อน ซึ่งก็ได้ผลดีไม่ต่างกัน
แม้ความเข้มข้นของแร่ธาตุสำคัญทางโภชนาการที่ได้จากนมคาร์โมมายล์และน้ำลูกหม่อนจะน้อยกว่าการเจือด้วยสารสังเคราะห์ แต่สารจากธรรมชาติคือจุดขายสำคัญของผลิตภัณฑ์ เจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ และยังได้กลิ่นหอม และรสชาติที่ผู้บริโภคคุ้นเคย สามารถใช้ต่อยอดให้ข้าวนึ่งอบแห้งกลายเป็นขนมขบเคี้ยวเช่น ข้าวพองรสนม หรือขนมหวานที่ได้กลิ่นหอมคาร์โมมายล์ พร้อมคุณค่าทางอาหารที่แฝงอยู่อีกด้วย
อีกไม่นานคงมีอาหารเพิ่มคุณค่าจากธรรมชาติมาให้ลิ้มลองกัน
ขอบคุณข้อมูลมีสาระจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ