ชีววิทยาของจิ้งหรีด
จิ้งหรีด (Cricket) จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่ง พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น ชอบกัดกิน ต้นกล้าพืช ใบพืชส่วนที่อ่อน ๆ เป็นอาหาร จิ้งหรีดมีหลายชนิดและมีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของจิ้งหรีด พฤติกรรม ลักษณะพิเศษของจิ้งหรีดที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่น และสังเกตได้ง่าย คือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ
ลักษณะโดยทั่วไปของจิ้งหรีด
1. รูปร่างลักษณะ
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีลักษณะปากเป็นแบบปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่และแข็งแรง กระโดดเก่ง เพศเมียปีกเรียบและมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง เพศผู้มีปีกคู่หน้าย่น สามารถทำเสียงได้
2. ชนิดจิ้งหรีด
จิ้งหรีดที่พบในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มี 4 ชนิด ดังนี้
1) จิ้งหรีดทองดำ ลำตัวกว้างประมาณ 0.7 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. มี 3 สี ที่พบตามธรรมชาติคือ สีดำ สีทอง และสีอำพัน
โดยลักษณะที่เด่นชัด คือ จะมีจุดเหลืองที่โคนปีก 2 จุด
ิ จิ้งหรีดทองดำ
2) จิ้งหรีดทองแดง มีลำตัวสีน้ำตาล เพศผู้มีสีเข้มกว่าเพศเมีย ส่วนหัวเหนือขอบตารวมด้านบน แต่ละด้านมีแถบสีเหลือง มองดูคล้ายหมวกแก๊ป มีความว่องไวมากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกจิ้งหรีด ชนิดนี้เป็นภาษาท้องถิ่นว่า จินาย อิเจ็ก จิ้งหรีดม้า เป็นต้น
ิ จิ้งหรีดทองแดง
3) จิ้งหรีดเล็ก มีขนาดเล็กที่สุด มีสีน้ำตาล บางท้องที่เรียกว่า จิลอ จิ้งหรีดผี หรือบางที่เรียกว่าแอ้ด ลักษณะคล้าย จิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น
จิ้งหรีดเล็ก
4) จิ้งโกร่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ สีน้ำตาล ลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3.5 ซม. ชอบอยู่ในรูลึก โดยจะขุดดินสร้างรังอาศัยได้เอง และมีพฤติกรรมชอบอพยพย้ายที่อยู่เสมอ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น จิโปม จิลอ เป็นต้น
จิ้งโกร่ง
3. วงจรชีวิตจิ้งหรีด
จิ้งหรีดมีระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
1) ระยะไข่ ไข่จิ้งหรีดจะมีสีเหลืองรวมกันเป็นกลุ่มในดิน ลักษณะยาวเรียวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงฟักออกมาเป็นตัวอ่อน
2) ระยะตัวอ่อน ไข่จิ้งหรีดเมื่อฟักออกเป็นตัวอ่อน จิ้งหรีดวัยอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีลักษณะคล้ายมด และมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ จะลอกคราบประมาณ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเมื่อโตขึ้นเริ่มมีปีก เรียกว่า ระยะใส่เสื้อกั๊ก มีระยะกั๊กเล็ก มีติ่งปีก และกั๊กใหญ่ มีติ่งปีกยาว ระยะตัวอ่อนพันธุ์จิ้งหรีดทองดำใช้เวลาประมาณ 36 - 40 วัน แต่ถ้าพันธุ์ทองแดงใช้เวลาประมาณ 46 - 50 วัน จึงจะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย
3) ระยะตัวเต็มวัย เป็นระยะที่สามารถแยกเพศได้ชัดเจน โดยการสังเกตความแตกต่างของเพศผู้ เพศเมีย เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าย่น สามารถทำให้เกิดเสียงขึ้นได้ โดยใช้ปีกคู่หน้าถูกันจะทำให้เกิดเสียง เสียงที่จิ้งหรีดทำขึ้นเป็นการ สื่อสารที่มีความหมายของจิ้งหรีด สำหรับเพศเมียจะมีปีกคู่หน้าเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมา จากส่วนท้อง โดยทั่วไปจิ้งหรีดตัวเต็มวันจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-60 วัน
เพศเมีย
เพศผู้
4. การผสมพันธุ์ของจิ้งหรีด
จิ้งหรีดจะผสมพันธุ์เมื่อเป็นตัวเต็มวัย การผสมพันธุ์และวางไข่แต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน/ครั้ง/รุ่น เมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายแล้วตัวเมียก็จะตาย
วิธีผสมพันธุ์
ตัวผู้จะทำเสียงโดยยกปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียง เพื่อเรียกตัวเมีย จังหวะเสียงจะดังเมื่อตัวเมียเข้ามาหา บริเวณที่ตัวผู้อยู่ ตัวผู้จะเดินไปรอบ ๆ ตัวเมียประมาณ 2-3 รอบ ช่วงนี้จังหวะเสียงจะเบาลง แล้วตัวเมียจะขึ้นคร่อมตัวผู้ จากนั้นตัวผู้จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศเมีย หลังจากนั้นประมาณ 14 นาที ถุงน้ำเชื้อก็จะฝ่อลง แล้วตัวเมียจะใช้ ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป
ระบบสืบพันธุ์เพศผู้
เพศผู้มีอัณฑะ 1 คู่ สีขาวขุ่น แต่ละข้างมีท่อน้ำอสุจิมาเก็บไว้ที่พักน้ำเชื้ออสุจิ และมีต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิสีขาวขุ่น เมื่อมีการผสมพันธุ์เชื้ออสุจิจะออกไปทางท่อน้ำเชื้ออสุจิ
ระบบสืบพันธุ์เพศเมีย
เพศเมียมีรังไข่ 1 คู่ สีเหลืองเป็นช่อ รังไข่แต่ละข้างมีท่อนำไข่และนำออกมารวมกันที่ท่อกลาง นอกจากนี้จะพบถุงเก็บอสุจิเป็นก้อนกลมสีขาวขุ่นสำหรับเก็บอสุจิของเพศผู้เมื่อได้รับการผสมพันธุ์ ขณะที่จะวางไข่ โดยไข่แก่เคลื่อนตัวลงมาจากท่อนำไข่ก็จะมีการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่ก่อนที่จิ้งหรีดจะวางไข่ออกมา
การวางไข่
เพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ที่ยาวแหลมคล้ายเข็มแทงลงในดินที่มีลักษณะเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็จะฟักออกเป็นตัวอ่อน ตลอดอายุไข่จิ้งหรีดตัวเมียสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 600 - 1,000 ฟอง ซึ่งจะวางไข่เป็นรุ่น ๆ ได้ประมาณ 4 รุ่น
ขั้นตอนการวางไข่
จิ้งหรีดตัวเมียจะเริ่มวางไข่ภายใน 7 วัน หลังผสมพันธุ์ มีขั้นตอนดังนี้
- จิ้งหรีดจะวางไข่ในดินที่มีความชื้นพอเหมาะสำหรับวางไข่
- ใช้เข็มแทงลงดินเพื่อวางไข่
- การวางไข่จะวางเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 - 4 ฟอง ประมาณ 2 - 3 กลุ่ม
- แทงเข็ม 1 ครั้ง จะวางไข่ประมาณ 2 - 3 กลุ่ม
- ยกเข็มขึ้นมาเพื่อหาที่เหมาะสมเพื่อแทงเข็งวางไข่ใหม่
- จะมีการวางไข่ตลอดอายุ 4 ครั้ง ๆ ละ ประมาณ 200 - 300 ฟอง
- การวางไข่แต่ละรุ่นจะใช้เวลาห่างกันประมาณ 15 วัน
********************************