วังนาคินทร์คำชะโนด 2/2ต่อเช่นเดียวกับใครที่อยากจะเข้าไปสัมผัสป่าลี้ลับคำชะโนดก็ต้องสำรวมและปฏิบัติตาม ข้อห้ามอื่นๆ เป็นต้นว่า ห้ามใส่รองเท้าทั่วทั้งบริเวณป่า หมวก แว่นตา ร่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ห้ามเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้คือการดูถูกดูหมิ่นต่อผู้ปกปักรักษาผืนดิน
“แต่ก่อนห้ามใส่เสื้อสีแดงด้วย ไม่ได้เลยนะ ใครใส่เข้ามานี่เป็นเรื่อง อยู่ไม่ได้นานหรอก ต้องรีบออกไป ไม่รู้เพราะอะไร เหมือนท่านไม่ชอบ แต่พอหลวงปู่ (หลวงตาคำ สิริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดศรีสุทโธ วัดละแวกป่าคำชะโนด) ได้ทำพิธีขอยกเว้นตอนหลังก็ใส่ได้” ทองหล่อ ตลิ่งชัน กำนันตำบลวังทองบอก
ความเชื่อเรื่องพญานาคของคนที่นี่นั้นอาจไม่แตกต่างจากชาวหนองคายที่เชื่อว่าพญานาคมีจริง บั้งไฟพญานาคเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแห่งเมืองบาดาล ไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ธรรมดาเหมือนเมื่อครั้งถูกนำเสนอผ่านหนัง รวมถึงสื่อทีวีบางช่องเมื่อหลายปีก่อนโน้น ชาวบ้านละแวกป่าคำชะโนดก็คล้ายกัน พวกเขาสร้างทางเดินที่เชื่อมจากโลกภายนอกกับผืนป่าอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ ด้วยรูปปั้นพญานาค 2 ตัว 7 เศียร นอนเลื้อยยาวไปจนสุดทางเดินราว 300 เมตร เพื่อสะท้อนถึงพลังอำนาจและบารมีของพญานาคราช
กระทั่งในวันออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่าเป็นวันที่พญานาคจะขึ้นมาหายใจ ดวงไฟสีแดงที่ผุดกลางบ่อน้ำแล้วลอยขึ้นท้องฟ้า (คล้ายๆ กับบั้งไฟพญานาคผุดกลางลำน้ำโขงที่ จ.หนองคาย) นั่นละคือ ลมหายใจพญานาค ใครเห็นจะเป็นบุญของชีวิต
ป่าคำชะโนดยังมีเรื่องเล่าอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่สร้างความรู้สึกชวนขนลุกและตื่นเต้นเสียวสันหลัง พญานาคมีจริงหรือเปล่า คงปล่อยเป็นเรื่องนานาจิตตังของแต่ละคน เพราะยากจะพิสูจน์เหลือเกิน แต่ ณ วันนี้ถือว่าเป็นโชคของชาวบ้าน ต.วังทองที่ใครๆ ต้องอิจฉา เมื่อไม่ต้องกระเสือกกระสนสร้างพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนเหมือนที่อื่นๆ บางทีเรื่องเล่าระหว่างพญานาคกับมนุษย์อาจไม่ได้เหลวไหลหรือแค่หลอกคนอีกต่อไปเสียแล้ว
ป่าอันลี้ลับนี่ละที่จะเป็นคำตอบสุดท้ายในการดำรงรักษาผืนป่า แม้ว่าต้องแลกด้วยฉายาป่าอาถรรพ์ก็ตามที
จบ---------------------------------------------------------------------------------