ช่วยราชการบ้านเมือง
พระเจ้าตากสินมหาราช เคยตรัสกับพระสงฆ์ว่า
"เรื่องอาณาจักรเป็นเรื่องของโยม
เรื่องพุทธจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า"
หมายความว่า ภาระหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองนั้น เป็นเรื่องของฆราวาสญาติโยมแต่เรื่องภาระธุระทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์
คำว่า พระผู้เป็นเจ้านั้นหมายถึง พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายทั้งปวง
ความหมายที่ลึกลงไปกว่านี้ก็คือ การปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น จะต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายพุทธจักร จึงจะสามารถรักษาชาติศาสนาไว้ได้
สมัยโบราณท่านถือว่า แม้พระยาช้าง พระยาม้า ก็รับราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองรักษาพระราชอาณาจักร พระสงฆ์เจ้าคณะทั้งปวง ตลอดจนพระครูสอนพระธรรม ก็รับราชการด้วย ท่านจึงถวายเงินนิตยภัต พัดยศ ตราตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นข้าราชการนั่นเอง
หลวงพ่อเงิน ดูเหมือนว่าจะถือคติโบราณอันนี้มาตลอดเวลา ตลอดชีวิตของท่าน ท่านถือว่าตัวท่านมีภาระหน้าที่ต้องช่วยราชการบ้านเมือง ไม่ต้องบอกไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องสั่ง ท่านก็ทำอยู่โดยปกติธรรมดา
เมื่อทางราชการขอร้องท่านก็ทำสิ่งใดการใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง แก่พระศาสนา หรือเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชน หลวงพ่อทำ หลวงพ่อรับภาระ หลวงพ่อช่วยเหลืออย่างเต็มสติปัญญาไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเกี่ยงงอน ไม่เคยรีรอ ไม่เคยเล่นแง่ ไม่เคยต้องให้ขอร้อง ไม่เคยคิดเอาหน้าเอาชื่อ ไม่เคยวางใหญ่ ว่างานนี้ร้อง ฉันต้องเป็นหัวหน้า ฉันเป็นประธาน ฉันเป็นผู้ชี้ขาด ฉันต้องมีอำนาจคุม ไม่มีเลยในเรื่องเหล่านี้
ดูเหมือนหลวงพ่อจะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วย จะต้องทำไปหมดทุกเรื่อง ไม่ต้องรอให้ผีเห็น คนเห็น ไม่ต้องรอให้คนยกย่อง ไม่ต้องรอเอาชื่อเอาหน้าอะไรทั้งสิ้น คนที่รู้จักหลวงพ่อจะต้องยอมรับในเรื่องนี้ บางทีลูกศิษย์คิดค้านก็มีว่าเรื่องนี้หลวงพ่อไปรับทำทำไม ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของหลวงพ่อเลย แต่หลวงพ่อเฉย หลวงพ่อทำต่อไปตามปกติ
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง
คือเรื่องโรงพยาบาลนครปฐม แต่เดิมนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในที่ดินคับแคบ มีอาคารไม้หลังเล็ก ๆ มีไม่กี่เตียง อยู่ในบริเวณทิศตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์
ต่อมานายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด น.พ.สมใจ สุชาดำ สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษากันว่า ควรตจะย้ายไปสร้างใหม่ในที่ราชพัสดุ หน้าโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นของโรงเรียนนายร้อยนครปฐม เมื่อได้ที่ดินซึ่งกว้างขวางพอสมควรแล้ว ก็มาถึงงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องใช้เงินนับสิบล้าน จะได้มาอย่างไร แน่นอนส่วนใหญ่จะต้องได้มาจากการบริจาคของประชาชน แต่การที่ประชาชนจะบริจาคนั้นเขาจะต้องมีสิ่งที่เขาเลื่อมใสศรัทธา จะต้องมีแกนกลางของการบุญกุศล หยิบยกเอามาเป็นประธาน เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นจุดดึงดูดบุญบริจาค มองดูจนทั่วทิศรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ไม่มีใครจะวิเศษเท่าหลวงพ่อเงินเลย จึงตกลงจะให้หลวงพ่อเงินเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยวิธีหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเงินขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นของสมนาคุณผู้บริจาคเงิน ได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ หลวงพ่อก็ยินดีอนุญาตให้ทำได้ตามความประสงค์ จึงได้ดำเนิการกันต่อมา มีผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมาก พอที่จะสร้างโรงพยาบาลได้ โดยยกหลวงพ่อเงินเป็นประธานโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงสร้างต่อมาได้ดังความประสงค์ ด้วยเงินจำนวนมาก และทางกรรมการก็ได้สร้างอาคารตึกพยาบาลขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งชื่อว่า "อาคารราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน)" พ่อค้าขายดีก็บริจาคทรัพย์กันรายละมาก ๆ เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนก็มีมาก
นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงินที่ได้ช่วยชาติบ้านเมืองเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังมีหลักฐาน ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
และดูเหมือนจะเป็นต้นแบบที่เกิดโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่สุพรรณบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนโรงพยาบาลหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ในเวลาต่อมาด้วย กล่าวเช่นนี้คงจะไม่เกินความจริงอะไร เพราะโรงพยาบาลนครปฐมของหลวงพ่อเงินเกิดก่อนแห่งอื่น ๆ ทุกแห่ง
........................................................................................