ชีวประวัติ หลวงปู่เส็ง วัดบางนา 1.
หลวงปู่เส็ง จันทฺรังสี เทพเจ้าชาวรามัญ วัดบางนา จ.ปทุมธานี
ดินแดนย่านอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ในอดีตเป็นแหล่งพำนักพักพิงของชาวรามัญ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย เมื่อครั้งเกิดศึกสงครามรบพุ่งกันระหว่างไทยกับพม่า ทำให้ชาวรามัญส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพม่าต้องหลบลี้หนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย มาลงหลักปักฐานอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะย่านอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันยังมีร่องรอยโบราณวัตถุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เป็น ฝีมือของชาวรามัญหลงเหลือให้ได้ศึกษากันหลายแห่ง
วัดบางนา ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ร่วม 300 ปีมาแล้ว เป็นวัดที่ชาวรามัญสร้างขึ้นมาใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจตามประเพณี และเป็นสถานศึกษาแก่บรรดาลูกหลานของชาวรามัญในย่านนั้น ชาวรามัญอพยพจากเมืองหงสาวดีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้นเมื่ออยู่ดีมีสุขทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ดีแล้ว มักจะสร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้บวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ในการสร้าวัดของชาวรามัญนั้น เมื่อสร้างเสร็จจะทำเสาหงส์ไว้หน้าวัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบกันว่าวัดนั้นเป็นวัดที่ชาวรามัญสร้างขึ้นถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา
วัดบางนาเดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดบางนา ต่อมาย้ายร่นลงไปอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา
ประวัติความเป็นมาเดิมของวัดบางนา จากหลักฐานที่ได้พบทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และจากการคาดการณ์ตามอายุของสิ่งต่างๆ ตลอดจนอายุการก่อสร้างอุโบสถ มีหลักฐานยืนยันการสร้างอุโบสถมาแล้วถึง 4 หลังด้วยกัน กล่าวคือ พอโบสถ์หลังเก่าพังลงก็ทุบทิ้ง แล้วสร้างขึ้นมาใหม่เป็นอย่างนี้ถึง 4 หลัง อายุกาลของวัดจึงน่าจะอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และจากลำดับสมภารปกครองวัดเท่าที่ทราบจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา สมภารองค์แรกของวัดบางนาคือ หลวงพ่อแดง ต่อจากหลวงพ่อแดงก็คือ หลวงปู่แร่ว, หลวงปู่ทัด ลาหุโล, หลวงปู่เส็ง จันทฺรังสี หรือพระครูธรรมสุนทร, หลวงพ่อแสวง หรือท่านพระครูอนุกูลศาสนกิจ จนกระทั่งมาถึงพระอธิการยงยุทธ ยโสธโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
ในอดีตสมัยก่อนย่านอำเภอสามโคก วัดบางนามีชื่อเสียงมากมีคนไปทำบุญที่วัดมากที่สุด ก็เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่มีพระไปบวชศึกษาเล่าเรียนมาก พระที่วัดต่างก็ถือปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ชาวบ้านจึงศรัทธาเลื่อมใสเข้าไปทำบุญกันมาก จนกระทั่งมาถึงยุคของหลวงปู่เส็ง ซึ่งถือว่าเป็นพระที่ได้รับสมณศักดิ์รูปแรกของวัดบางนาจากทางคณะสงฆ์ และท่านเป็นผู้เริ่มทำพระเครื่องวัตถุมงคลของวัดบางนาจนมีผู้รู้จักนิยมไปทั่ว ซึ่งก่อนหน้าหลวงปู่เส็งไม่มีสมภารองค์ใดทำพระเครื่องมาก่อนเลย
ชาติภูมิ
หลวงปู่เส็งนั้น ท่านเป็นคนพื้นเพละแวกวัดบางนานั่นเอง บ้านท่านอยู่ทางใต้วัดติดคลองบางนา โยมพ่อชื่อจู เป็นชาวจีนล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนมาอยู่ที่สามโคกใช้สกุล “แซ่บุญเซ็ง” โยมแม่ชื่อเข็มเป็นชาวรามัญ
สมัยก่อนชาวบ้านย่านวัดบางนาต่างก็มีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ จนได้รับขนานนามหมู่บ้านว่า “บางนา” อาชีพรองลงมาของชาวรามัญสมัยนั้นก็คือการทำอิฐ ทำตาล และค้าขาย ซึ่งทางบ้านของหลวงปู่เส็งทำการค้าขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้านและส่วนหนึ่งก็ทำนา สำหรับประวัติส่วนตัวของหลวงปู่เส็งท่านไม่เคยเล่าให้ใครฟัง ทราบแต่เพียงว่าท่านเกิดเมื่อ ปี พ.ศ. 2444 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน พี่น้องของท่านเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษด้วยกันหมด เหลือเพียงท่านเท่านั้น
ครั้นเมื่ออายุครบบวชโยมพ่อและโยม แม่ก็ให้ท่านบวชที่วัดบางนา เมื่อปี พ.ศ.2465 โดย มีท่านเจ้าคุณรามัญมุนี หรือพระครูนันทมุนี วัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบวรธรรมกิจ หรือหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ เป็นพระ-กรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่ทัด ลาหุโล เจ้าอาวาสวัดบางนา มีศักดิ์เป็นน้าชายของท่าน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จันทฺรังสี” ภายหลังที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว หลวงปู่เส็งก็ศึกษาเล่าเรียนอักขระเลขยันต์จากพระอาจารย์ต่างๆ และมีการเรียนภาษาขอมและภาษารามัญ ท่านก็ศึกษาเล่าเรียนทั้งสองภาษาจนแตกฉาน
นอกจากนี้ท่านยังไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่เทียน ที่วัดโบสถ์อีกด้วย หลวงปู่เส็งท่านมีปฏิปทาในการใฝ่หาวิชาความรู้มาก ใครแนะนำสั่งสอนท่านก็จดจำไว้เป็นอย่างดี หลวงปู่ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษาขอมเป็นพิเศษ เรื่องอักขระเลขยันต์ต่างๆ ท่านเก่งมากจนกระทั่งปี พ.ศ.2486 หลวงปู่ทัด เจ้าอาวาสวัดบางนามรณภาพลง หลวงปู่เส็งก็ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการณ์เจ้าอาวาสไปก่อน ในปี พ.ศ.2487 หลวงปู่สอบนักธรรมชั้นเอกได้ และปี พ.ศ.2489 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนาอย่างเป็นทางการ หลวงปู่ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันท่านก็บูรณะปฏิสังขรณ์วัดจนรุ่งเรือง รับงานการสร้างโบสถ์ต่อจากหลวงปู่ทัด เจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ทำคั่งค้างไว้จนสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี
หลวงปู่เส็ง เป็นพระปฏิบัติท่านมักจะออกธุดงค์ไปปริวาสกรรมทุกปีมิได้ขาด มีปฏิปทาในทางสมถะหมั่นบริกรรมภาวนาเจริญพระคาถาวิชาต่างๆ เล่ากันว่าเวลาว่างจากงานที่ต้องกระทำ ท่านจะนั่งนับลูกประคำที่คล้องคออยู่ บริกรรมพระคาถาตลอดเวลา หลวงปู่เป็นคนพูดน้อยไม่ค่อยพูดว่ากล่าวผู้ใด หลวงปู่เส็งเป็นสมภารปกครองวัดเรื่อยมาจนกระทั่งอายุ 65 ปี ท่านจึงเริ่มทำวัตถุมงคลการทำวัตถุมงคล ครั้งแรกนั้นท่านสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกของวัดบางนา ในปี พ.ศ.2510 หลังจากสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้นออก มาแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาแล้ว ในปีนั้นเองหลวงปู่ก็ทำเหรียญรูปอาร์มหรือใบเสมาคว่ำเป็นรุ่นแรกออกมาอีก
และนับแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมาหลวงปู่เส็งก็สร้างวัตถุมงคลในรูปแบบต่างๆ ออกมามากมายแทบจะนับรุ่นกันไม่ได้เลยทีเดียว หลวงปู่สร้างวัตถุมงคลทุกปีๆ หนึ่งสร้าง 2-3 แบบ จนกระทั่งท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2530 รวมระยะเวลาการทำวัตถุของหลวงปู่เส็ง 20 ปี และวัตถุมงคลของหลวงปู่ทุกรุ่นทุกแบบก็มีผู้เลื่อมใสหามาพกติดตัว และบูชากันมากมาย วัตถุมงคลของหลวงปู่เส็งนั้น ออกไปในทางแคล้วคลาด เมตตามหานิยมและการค้าขายดีเยี่ยม วัตถุมงคลของหลวงปู่เส็ง รุ่นนิยมเท่าที่พอลำดับความได้มีดังนี้
พระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกจัดสร้างปี 2510 ผงที่นำมาสร้างเป็นผงอิทธิเจ ซึ่งจะโน้มไปในทางเมตตามหานิยมและค้าขาย พระผงสมเด็จ 3 ชั้นรุ่นแรกด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปพระประธานนั่งสมาธิ มีซุ้มครอบแก้ว ด้านหลังเป็นลายมือเขียนว่า “พระครูเส็ง” บางองค์เขียนว่า “เส็ง” และบางองค์ ก็เขียนว่า “พระครูเส็ง จันทฺรังสี” แล้วแต่ว่าหลวงปู่จะเขียนอะไรคำไหน แต่ส่วนใหญ่จะทำเป็นแบบพิมพ์เป็นบล็อค ใช้กดลงไปบนหลังพระเวลากดพิมพ์
เนื้อพระมีทั้งเนื้อน้ำมัน ลักษณะพระจะออกแกร่งมัน กับสูตรผสมเนื้อกล้วยพิมพ์ออกมามีทั้งหมด 5 สี คือ สีดำ เหลือง เขียว แดง และ ขาว พอทำเสร็จหลวงปู่ก็ปลุกเสกเดี่ยวแล้วออกแจกจ่ายแก่ญาติโยมที่ไปหาท่าน บางรายนำพระพกติดตัวไปประสบอุบัติเหตุเกิดแคล้วคลาดอย่างเหลือเชื่อ กิตติศัพท์พกพระหลวงปู่เส็งแล้วแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุมีบ่อยครั้งมากจนกระทั่งเลื่องลือไปทั่ว พุทธคุณพระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกของหลวงปู่เส็ง เรื่องแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเป็นเลิศ หลังทำพระผงรุ่นแรกทิ้งช่วงปลายปี ท่านก็ทำเหรียญรุ่นแรกออกมาเป็นเหรียญใบเสมาคว่ำมีทั้งเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์มีอักษรเขียนว่า “อาจารย์เส็ง” ด้านหลังเป็นยันต์ ใต้ยันต์มีอักษรระบุชื่อวัดบางนา พ.ศ.2510 ปีที่จัดสร้าง และพระผงที่ทำออกมานั้นส่วนใหญ่จะบรรจุตะกรุดสาริกาดอกเล็กๆ ไว้ที่ฐานด้วย เพื่อเสริมพุทธคุณ
*******************************มีต่อ*********************************************