Username:

Password:



  • หน้าแรก
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • ปฏิทิน
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
  • กลับหน้าร้านค้าออนไลน์
หน้าร้านดีดี บอร์ด ห้องพูดคุยทั่วไป ห้องข่าว (ผู้ดูแล: ka1, jacky, okay) แผนกระตุ้นศก.ญี่ปุ่นส่อสะดุดแรงงาน-ระบบรัฐ-กลุ่มปร
หน้า: [1]   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
ส่งหัวข้อนี้พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: แผนกระตุ้นศก.ญี่ปุ่นส่อสะดุดแรงงาน-ระบบรัฐ-กลุ่มปร  (อ่าน 2878 ครั้ง)
ka1
Global Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 496


เราจะทำเพื่อสังคม ทีมงานหน้าร้านดีดี.คอม


แผนกระตุ้นศก.ญี่ปุ่นส่อสะดุดแรงงาน-ระบบรัฐ-กลุ่มปร
« เมื่อ: มกราคม 10, 2013, 05:24:42 PM »

แผนกระตุ้นศก.ญี่ปุ่นส่อสะดุดแรงงาน-ระบบรัฐ-กลุ่มประโยชน์ ถ่วงปฏิรูป

คึกคักรับศักราชใหม่ทันที สำหรับประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ซึ่งเห็นได้จากสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สู้เงินฝืด แก้เงินเยนแข็ง ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวที่ขนออกมาอย่างต่อเนื่องและประสานเสียงด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ประกาศผ่อนปรนนโยบายทางการเงินเป็นระยะๆ นับตั้งแต่สิ้นสุดการเลือกตั้งเป็นต้นมา โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 00.1% พร้อมขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์อีก 10 ล้านล้านเยน เป็น 101 ล้านล้านเยน จากเดิมอยู่ที่ 91 ล้านล้านเยน

ขณะที่ หลังจากนั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศเตรียมจัดตั้งงบประมาณพิเศษอีก 12 ล้านล้านเยน สำหรับช่วงเวลาที่เหลือในปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะถดถอย ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเงินฝืดและสภาวะค่าเงินเยนแข็ง โดยคาดกันว่างบประมาณส่วนใหญ่จะนำไปใช้สนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคม และโครงงานสาธารณะต่างๆ

ก่อนตามด้วยการเตรียมซื้อพันธบัตรจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) กองทุนแก้หนี้ยุโรป เพื่อเป็นทางเลือกแก้ปัญหาค่าเงินเยนแข็ง หลังจากที่แทรกแซงตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศด้วยการเทขายสกุลเงินเยน และทุ่มซื้อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สกุลเงินเยนอ่อนโดนประเทศคู่ค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะสหรัฐวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ด้านแผนกระตุ้นระยะยาว รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภค จาก 5% ในปัจจุบันเป็น 8% ในเดือน เม.ย. 2557 และ 10% ในเดือน ต.ค. 2558

อย่างไรก็ตาม การเร่งคลอดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง แม้จะเรียกความสนใจและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในทิศทางที่มีแนวโน้มเป็นไปในทางบวก แต่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า แผนทั้งหมดข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งทำให้เศรษฐกิจของแดนปลาดิบแห่งนี้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง กลับมีแววสะดุด

เพราะยังมีอุปสรรคขัดขวางและแรงต้านทานมากมายจนทำให้ลงมือทำจริงได้ยาก

ทั้งนี้ ประเด็นแรกสุดก็คือปัญหาด้านแรงงาน ที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ยั่งยืนได้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นแทบทุกสมัยไม่เคยสอบผ่านการปฏิรูปแรงงานประเทศให้มีการขยายตัวได้เลย เห็นได้จากจำนวนประชากรเด็กและวัยหนุ่มสาวที่ลดลงเรื่อยๆ สวนทางประชากรวัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

แน่นอนว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลานานในการวางแผนและลงมือทำกว่าจะเห็นผล ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขณะนี้ไม่สามารถรอได้

และกลายเป็นสิ่งสำคัญให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอาเบะต้องการเร่งจัดการบรรเทาอัตราการลดลงของประชากรในวัยทำงาน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเสนอให้เพิ่มจำนวนแรงงานด้วยวางแนวทางให้ผู้หญิงและผู้สูงอายุสามารถทำงานได้มากขึ้น และพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อช่วยเพิ่มผลการผลิตของประเทศ

นอกจากนี้ การปรับปรุงกฎหมายการจ้างหรือเลิกจ้างงาน ซึ่งในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุง โดย โอฮิโระ ยาชิโระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน กล่าวว่า จะต้องให้เป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง คือ ลูกจ้างได้รับสิทธิความคุ้มครองเต็มที่ ขณะที่นายจ้างมีสิทธิคัดเลือกพนักงานเพื่อให้องค์กรมีการผลิตผลผลิตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้

ประเด็นต่อมาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานภายในประเทศ ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมากมาย ครอบคลุมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

มาซาอากิ คังโน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อธิบายว่า ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้มีโครงสร้างการบริหารงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและซ้ำซ้อนจนส่งผลให้มีความล่าช้า เช่น การซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหลายคน

ความเห็นข้างต้นของคังโนสอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ระบุตรงกันว่า สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่ต้องทำ คือ การยกเครื่องปฏิรูปโครงสร้างการทำงานของตนเองให้กระชับและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีเหตุให้พลิกผันได้ทันท่วงที แต่ปัญหาการเมืองภายในจนทำให้เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ส่งผลให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศถดถอย หรือเลวร้ายที่สุดก็คือทำให้โครงสร้างทางสังคมเหลื่อมล้ำหนักขึ้น

นอกจากนี้ การปฏิรูปข้างต้นยังหมายรวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาตัดสินใจอนุมัติโครงการต่างๆ โดยข้อมูลจากเวิลด์แบงก์ ระบุว่า สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยเฉลี่ยแล้วญี่ปุ่นจะใช้เวลาถึง 23 วัน ขณะที่ สหรัฐใช้เวลาแค่ 6 วัน และเยอรมนีใช้เพียง 8 วันเท่านั้น

ด้านนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ปัญหาในการปฏิรูปโครงสร้างนี้เป็นไปได้ยาก เพราะการกระทำดังกล่าวหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งในบางครั้งการปรับปรุงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจภายในประเทศ จนกลายเป็นความขัดแย้งที่พบเห็นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แทบจะรายวัน

ส่วนปัจจัยสุดท้ายก็คือ การรับมือกับเสียงต่อต้านของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินการผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่า หนึ่งในแนวทางหลักที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนก็คือ การเปิดรับการค้าเสรี ที่จะทำให้ตลาดภายในมีการเปิดและมีการแข่งขันมากขึ้น

แต่กระนั้น การดำเนินการของรัฐบาลญี่ปุ่นในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกระแสเสียงคัดค้านอย่างหนักหน่วงจากบางกลุ่มบางจำนวนของประชาชน

ไฟแนนเชียล ไทสม์ รายงานว่า หนึ่งในมาตรการสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความพยายามข้างต้นของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดก็คือ การเตรียมเข้าร่วมการประชุมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพีพี) ที่มีสหรัฐเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดัน เพื่อให้เกิดเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แน่นอนว่า การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีดังกล่าว ย่อมหมายถึงการยกเลิกกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งหมายรวมถึงในตลาดอ่อนไหวของญี่ปุ่นอย่างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทนมที่ชาวฟาร์มนมญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นผู้กำหนดราคาและมีสิทธิเลือกผู้ซื้อ พร้อมรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ลดการแข่งขันจนทำให้มีกำไรในการขาย แต่หากรัฐมีการเปิดตลาดเสรีนม นมราคาถูกจากต่างประเทศย่อมจะไหลทะลักเข้ามา จนทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศไม่มีความสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้

และกลายเป็นเสียงคัดค้านต่อต้านรุนแรงจากกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเป็นฐานเสียงสนับสนุนของรัฐบาล จนอาจทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ หรือชะลอการตัดสินใจผลักดันมาตรการที่น่าจะช่วยฉุดเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาจากหล่มซบเซาได้ เพื่อแลกให้รัฐบาลมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองต่อไปได้

นอกจากนี้ ปัญหาของญี่ปุ่นยังรวมถึงปัญหาอย่างอัตราการขึ้นภาษีส่วนบุคคล ที่มีเงื่อนไขว่าจะทำได้ต่อเมื่อเศรษฐกิจดีเท่านั้น ส่งผลให้การที่จะปรับขึ้นภาษีนี้เป็น 8% ในเดือน เม.ย.ปีหน้า การพิจารณาเพื่อดำเนินการจะต้องทำใน 6 เดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งก็คือประมาณครึ่งปีให้หลังนี้

กล่าวอีกทางหนึ่ง คือ ถ้ามาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอาเบะใช้ไม่ได้ผลและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ดีขึ้นทันเวลา การปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคก็จะทำได้ยาก กระทบความสามารถทางการคลังของประเทศ

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังมีปัญหาน่าเป็นห่วงที่ยังคงแก้ไม่ตกอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาหนี้สาธารณะประเทศ ที่ปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้สินรวมประมาณ 1,000 ล้านล้านเยน (ราว 350 ล้านล้านบาท) โดยประมาณ 700 ล้านล้านเยน (ราว 240 ล้านล้านบาท) เป็นพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ของญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงสุดถึงปีละ 10 ล้านล้านเยน (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยของหนี้มากขึ้น ซึ่งจะส่งกระทบอย่างมากต่อญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สรุปได้ว่า แม้รัฐบาลจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่แข็งขันและดำเนินการในเชิงรุกเพียงใด แต่ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถคิดแผนจัดการปฏิรูปโครงสร้างการทำงาน ยกเครื่องระบบแรงงานประเทศ และรับมือกับกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจเสียประโยชน์ตราบนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นต่อจากนี้ก็ยังไม่สามารถหาทางออกและยังคงต้องสะดุดกับวังวนปัญหาทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปไม่จบสิ้น
 
ที่มา :Post Today

-----------------------------
บันทึกการเข้า

เราจะเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
(หากมีแต่ ผู้ขอ แล้วคัยจะเป็นผู้ให้ละ)
หน้า: [1]   ขึ้นบน
ส่งหัวข้อนี้พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.10 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF
Nt-Sun Theme by N a t i
กำลังโหลด...