วัดโลกโมฬี -จ.เชียงใหม่
วัดเครื่องวัดน้ำใจคนในหล้า โลกโสภาเพราะวัดดัดนิสัย
โมฬีปิ่นจอมธรรมผู้นำชัย โลกโมฬียิ่งใหญ่ในล้านนา
ประวัติศาสตร์โลกโมฬีวัดนี้เด่น ดั่งเดือนเพ็ญแจ่มสว่างกลางเวหา
มหาเทวีทรงพระนามจิรประภา สตรีแกร่งกล้าแห่งล้านนาไทย

ประวัติวัดโลกโมฬี
วัดโลกโมฬีสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นยังหาหลักฐานได้ไม่แน่ชัดแต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ
(ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔) มีความว่า " เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๐ พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ล้านนารัชกาลที่ ๖
แห่งราชวงศ์เม็งรายและรัชกาลที่ ๓๑ หากนับแต่พระเจ้าลวจังกราช เป็นต้นมา พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม
และมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระมหาอุทุมพรบุปผมหาสวามีเจ้า
เมืองมติมา(เมืองเมาะตะมะ) จึงใช้ให้ราชบุรุษไปอัญเชิญพระมหาเถระเจ้ามาสืบศาสนาในล้านนาไทย แต่พระมหาเถระทรงชราภาพ
จึงให้พระอนันทะเถระและพระเถระที่เป็นศิษย์อีก ๑๐ รูป มายังนครเชียงใหม่และจำพรรษาอยู่ที่วัดโลก" และการที่พระเจ้ากือนา
นำพระเถระที่พระองค์เคารพศรัทธาและเป็นแขกต่างเมืองไปพักจำพรรษาที่วัดโลก วัดนั้นจะต้องเป็นวัดที่เหมาะสมใหญ่โต
เป็นสัปปายะสถานเป็นแน่แท้.

แผนที่วัดโลกโมฬี
ข้อมูลเอกสารบันทึกไว้ว่า
๑. จุลศักราช ๘๘๙ (พ.ศ. ๒๐๗๐) พญาเมืองเกศเกล้า ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี พ.ศ.๒๐๗๑
ให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารวัดโลกโมฬี พ.ศ. ๒๐๘๘ เมื่อพญาเมืองเกศเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ ข้าราชการ ขุนนาง
ด้ทำพิธีศพที่วัดแสนพอก ได้ถวายพระเพลิงแล้วนำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬี นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ
"ปีไก้ ศักราช ๘๘๙ ตัว สร้างบ้านหัวเวียงหื้อเป็นอารามขึ้นชื่อว่า วัดโลกโมฬี กับหื้อสร้างวัดบุญเกียร
สร้างวิหารปีเปิกไจ้ศักราช ๘๙๐ ตัว ก่อมหาเจดีย์ และปกพระวิหารวัดโลกโมฬี.เอากระดูกไปบรรจุไว้ยัง วัดโลกโมฬี ฝ่ายแจ่งหนเหนือทางนอกหั้น"
หลังจากนั้นเสนาอามาตย์ได้ทูลเชิญ พระนางจิรประภา ราชธิดาขึ้นครองราชย์ ( พ.ศ. 2088-2089. แต่มีบางตำนานให้ความเห็นว่า
พระนางจิรประภา น่าจะเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกศเกล้า เพราะมีบันทึกชื่อของพระนางว่า พระนางจิระประภามหาเทวี ซึ่งก็น่าจะเป็นชื่อของพระองค์) .
๒. สมัยพระนางจิรประภาเทวีเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๘๘-๒๐๘๙) สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยา
ยกทัพขึ้นมาหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ พระนางจิรประภาแต่งเครื่องบรรณาการไปถวาย และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชา
เสด็จมาทำบุญที่กู่พระเมืองเกศเกล้าที่วัดโลก พระองค์ได้พระราชทานราชทรัพย์ทำบุญไว้กับกู่พญาเกศอีก ๕,000 เงิน กับผ้าทรง ๑ ผืน
และพระราชทานรางวัลให้กับเจ้านาย ขุนนางที่รับเสด็จ.(ตำนานพื้นเมือง หน้า ๑๘๘)
๓. พ.ศ. ๒๑๔๙(๙๖๗) กษัตริย์เชียงใหม่ชื่อมังทรานรธามัยคุย(ราชบุตรพระเจ้าบุเรงนอง ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๕๐)
ได้เมตตาธรรม พระมหาสมเด็จวัดโลกไว้กับวัดวิสุทธาราม(ตามรอยโครงมังทรา)
๔. พ.ศ. ๒๑๘๒ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา อาราธนาพระสวามี
ถวายทานในสมเด็จพระสังฆราชาราชโมฬีเจ้า วัดทุกวัดเป็นราชฐาน ทำบุญเดือนยี่เป็ง บูชาพระพุทธรูป พระธาตุเจ้า
และพระภิกษุสามเณร ตามพระราชประเพณีแห่งเมืองเชียงใหม่ (ตำนานเมืองเชียงใหม่)
๕. พ.ศ. ๒๔๔๐ "...วัดโลก ตั้งอยู่แขวงบ้านทับม่าน ขึ้นแขว้นเจ็ดยอด เจ้าอธิการชื่อ ตุ๊พวง นิกายเชียงใหม่
ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌายะ รองอธิการชื่อ ตุ๊คำ"
๖. เจ้าแก้วนวรัฐ ได้บูรณะวัดโลก เหนือเวียง และสร้างพระพุทธรูปพร้อมทั้งธรรมมาสน์(จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่)

เจดีย์วัดโลกโมฬี
เจดีย์วัดโลกโมฬี มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า เจดีย์ของวัดโลกโมฬีในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างปลาย พุทธศตวรรษที่ 21
ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ที่เจดีย์วัดโลกโมฬี การพัฒนารูปแบบได้เพิ่มความสูงของเจดีย์คือ
ส่วนฐาน ได้แก่ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้ว อกไก่ เพิ่มเป็น ๒ ชุดอย่างชัดเจนโดยฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ที่ฐานปัทม์ชั้นที่สอง
มีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นมุมที่มีขนาดเล็กล ส่วนกลาง ยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จ ที่มีขนาดของมุมเล็กลง
และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำ
มีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้ง และกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำ ก็มีขนาดเด่นขึ้น
กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำที่เรียกกันว่า ปากแล
ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูงโดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน
รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังค์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง
(จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา พระเจดีย์เมืองเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:สถาบันวิจัยสังคม.๒๕๔๑ หน้า ๑๐๗,๑๑๐-๑๑๑)


อนุเสาวรีย์พระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา ในวัดโลกโมฬี
อาณาเขตติดต่อของวัด
ทิศเหนือ ใกล้เคียง วัดสันติธรรม ห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร วัดเจ็ดยอด ห่างจากวัดประมาณ ๑.๘๐ กิโลเมตร
ทิศใต้ ใกล้เคียง วัดมณเฑียร ห่างจากวัดประมาณ ๕๐ เมตร
ทิศตะวันตก ใกล้เคียง วัดสวนดอก ห่างจากวัดประมาณ ๑.๒๐ กิโลเมตร
ทิศตะวันออก ใกล้เคียง วัด เชียงยืน ห่างจากวัดประมาณ ๗๐๐ เมตร
กิจกรรมและโครงการของวัดโลกโมฬี
๑. โครงการปี๋ใหม่เมือง ระยะเวลา ๑๒-๑๕ เมษายน ของทุกปี
๒. โครงการปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชา ระยะเวลา วันวิสาขบูชา ของทุกปี
๓. โครงการสวดมนต์แปล ระยะเวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. ทุกวัน
๔. โครงการปฏิบัติธรรมวันแม่แห่งชาติ ระยะเวลา ทุกวันที่ ๑๒ สิงหาคม ทุกปี
๕. โครงการตั้งธรรมหลวงมหาชาติล้านนา ระยะเวลา ก่อนวันลอยกระทง ๕ วันของทุกปี
๖. โครงการปฏิบัติธรรมวันพ่อแห่งชาติ ระยะเวลาวันศุกร์-วันอาทิตย์ ก่อนวันที่ธันวาคม ของทุกปี
๗. โครงการอบรมศีลธรรมพิเศษภาคฤดูร้อนสำหรับเยาวชน ป.๕-ม.๓ ช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี
๘. โครงการสอนภาษาอังกฤษเยาวชนและประชาชนทั่วไป ลักษณะโครงการจร
๙. โครงการสอนคอมพิวเตอร์ พระภิกษุ สามเณร ประชาชนทั่วไป ลักษณะโครงการจร
๑๐. โครงการสัมมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๓๐ น.
๑๑. โครงการอบรมพุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชนและนักเรียน ช่วงเดือน มิ.ย. - ธ.ค.
๑๒. โครงการส่งเสริมประกวดการแสดงศิลปะและดนตรีพื้นเมือง และกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
อนึ่ง ตอนนี้ทางวัด ได้กำลังก่อสร้าง วิหารทรงล้านนา เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญกุศลและกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี
แต่ยังขาดทุนทรัพย์ปัจจัยในการก่อสร้าง
หากพุทธศาสนิกชนมีจิตอันเป็นกุศลศรัทธาในการที่จะเป็นผู้มีส่วนฟื้นคืนชีวิตให้กับวัดที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า
ก็ขอเชิญร่วมบริจาคได้ที่ วัดโลกโมฬี ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ. เชียงใหม่ ๕๐๒๐๐ โทร. ๐-๕๓๔๐-๔๐๓๙
หรือบริจาคผ่านธนาคารศรีนคร สาขาข่วงสิงห์ ชื่อบัญชี วัดโลกโมฬี ประเภทออมทรัพย์ หมายเลข 155-2-15830-6
ขอขอบคุณข้อมูล ที่มา: พระพลวัจน์ รุ้งดี

*************************************************************************